ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทศบาลลาดสวาย ปทุมธานี จับมือคณะสหเวชศาสตร์ มธ. ออกตรวจสุขภาพสูงวัย- กลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน หากผิดปกติพร้อมส่งต่อถึงมือหมอทันที ด้านสปสช. เผยเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและเครือข่าย ช่วยกันจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนในเขตเมือง


เทศบาลเมืองลาดสวาย จ.ปทุมธานี โดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดำเนินโครงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุประจำปี 2566 พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมถึงโครงการตรวจคัดกรองสุขภาพกลุ่มเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ โดยตรวจหาสารปรอท ตะกั่ว สารหนู ในกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เทศบาลเมืองลาดสวาย รวมทั้งหมด 752 คน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานเทศบาลเมืองลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

สำหรับโครงการของเทศบาลเมืองลาดสวาย ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งเป็นงบประมาณจากการสมทบร่วม 2 ฝ่าย คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับส่งเสริม ป้องกันโรค และดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพในทุกพื้นที่ 

นางจีรนันท์ ปิติฤกษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองลาดสวาย เปิดเผยว่า โครงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุประจำปีพบว่าประชากรผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองลาดสวาย มีจำนวน 9,907 คน คิดเป็น 14% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งวัยสูงอายุ เป็นวัยที่อวัยวะต่างๆ มีความเสื่อมถอย ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่มาทราบถึงความเจ็บป่วยเมื่อมีอาการในระยะที่รุนแรง ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัย เพื่อประคับประคองสุขภาพให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและยังเฝ้าระวังไม่ให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น

ขณะเดียวกันในพื้นที่ยังมีผู้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย และพบว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานร่วมกันกับสารเคมี ทั้งการทำความสะอาดที่ต้องฉีดพ่นฆ่าเชื้อ การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน-สารเคมี หรือแม้แต่โลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บป่วยตามมา 

นางจีรนันท์ กล่าวอีกว่า จึงได้ร่วมกับทีมแพทย์จากคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และทีมพยาบาลวิชาชีพ จากเทศบาลเมืองลาดสวาย ร่วมกันตรวจสุขภาพผู้สูงอายุและตรวจสุขภาพกลุ่มเสี่ยง พร้อมกับให้ความรู้ คำแนะนำ และให้บริการปรึกษาสุขภาพ ซึ่งหากเป็นกรณีที่พบความผิดปกติ จะมีการแนะนำการปฏิบัติตัว และการไปรักษาต่อตามสิทธิการรักษา โดยจะส่งต่อข้อมูลผลตรวจสุขภาพไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ 

รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการกระจายบุคลากรและจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการทางสุขภาพ ทำให้เป็นเรื่องยากหากจะพึ่งพาสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นการดูแลรักษาที่บ้านหรือในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ดีและเป็นทางออกของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการ “สร้างนำซ่อม” หรือการดูแลประชาชนเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตามไปรักษาเมื่อเกิดความเจ็บป่วยแล้ว และถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ

1

รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าวว่า สหวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจะมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับชุมชนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่ง มธ. สนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาได้มีส่วนลงไปปฏิบัติงานในสายวิชาชีพของตนเพื่อร่วมดูแลคนในชุมชน ในแต่ละหลักสูตรของคณะฯ ของเรา มีข้อกำหนดให้นักศึกษามีการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ มีการส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ทุกระดับทั้งขนาดขนาดใหญ่ และเล็กระดับชุมชน

ด้าน นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดปริมณฑลที่มีลักษณะพิเศษเป็นส่วนต่อขยายของเมืองหลวง และมีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี และการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิมีหน่วยบริการที่หลากหลาย ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 
 
อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ปัจจุบันได้มีบทบาทในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชน หลังจากที่หลายจังหวัดมีการถ่ายโอนรพ.สต.จากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มายัง อปท. เนื่องจากท้องถิ่นจะมีความใกล้ชิดกับประชาชนอย่างมาก ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่จ.ปทุมธานี อปท. อย่างเทศบาลเมืองลาดสวาย มีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างออกไป โดยมุ่งหาความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ โดยรอบพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมไปถึงโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย หน่วยบริการของภาคเอกชน ในการร่วมจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวอย่างกับท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีบริบทของพื้นที่คล้ายกันได้ 

นพ.สาธิต กล่าวอีกว่า เขตปริมณฑลประชาชนมักจะเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิอย่างที่ควรเป็นเหมือนกับต่างจังหวัด ซี่งการที่ท้องถิ่นแสวงหาความร่วมมือในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตามชุดสิทธิประโยชน์จากสปสช. ก็จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการสำหรับเขตเมืองที่เพิ่มมากขึ้น 
 
“สปสช.เข้าไปสนับสนุนเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกันโรค การดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง รวมไปถึงการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้ท้องถิ่นได้สามารถดำเนินการในฐานะผู้จัดบริการสุขภาพได้อย่างดี และให้ระบบบริการสุขภาพมีความยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ