ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ธรรมศาสตร์-มหิดล-องค์การอนามัยโลก” ร่วมจัดตั้งศูนย์ความรู้เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่ ชี้เป็นตัวการสำคัญทำการควบคุมยาสูบไม่คืบหน้า หวังรัฐบาลใหม่ออกกฎคุมเข้มบริษัทบุหรี่


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก” หรือ WHO-FCTC ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อ “การป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ” โดยอุตสาหกรรมยาสูบสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการทำงานควบคุมยาสูบอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยความสำเร็จมาจากการทำงานและการประสานความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม 

อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุเป้าหมายที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศปลอดยาสูบ ยังต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบในนโยบายสาธารณสุข ฉะนั้นการจัดตั้ง "ศูนย์ WHO-FCTC" นี้ จะช่วยพัฒนาคลังความรู้และเฝ้าระวังกลยุทธ์ของบริษัทยาสูบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่องานควบคุมยาสูบทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือ บุหรี่ไฟฟ้า มีผลกระทบมหาศาลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบต่อนโยบายสาธารณสุขเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบ การจัดตั้งศูนย์ความรู้ป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทยาสูบในประเทศไทยโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ ถือเป็นคลังข้อมูลเพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆ และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ที่จะมีกลไกที่จะช่วยติดตาม เฝ้าระวังการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบ และพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้

ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC กล่าวว่า WHO-FCTC เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ในการตอบสนองต่อผลกระทบร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ โดยศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 นี้มีภารกิจ 4 ด้าน คือ 1. ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศภาคี สำนักงานภูมิภาคต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างรัฐบาล และภาคประชาสังคม 2. จัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมต่างๆ ของการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยอุตสาหกรรมยาสูบ 3. เสริมสร้างศักยภาพประเทศภาคีและกลุ่มต่าง ๆ ให้มีความรู้เท่าทันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบ และ 4. ติดตามการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบต่อนโยบายควบคุมยาสูบในระดับต่างๆ ซึ่งการที่ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 นี้ตั้งอยู่ในประเทศไทยจะยิ่งทำให้กลไกการเฝ้าระวังการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบของไทยเข้มแข็งขึ้นซึ่งทางศูนย์ฯ จะเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้การควบคุมยาสูบของประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ดร.แอนเดรียน่า บลังโค มาร์คิโซ่ หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธุรกิจยาสูบที่ไม่แยแสต่อสุขภาพของประชาชน และให้ความสำคัญกับผลกำไรเหนือสุขภาพ ซึ่งจากหลักฐานที่รวบรวมโดยองค์การอนามัยโลกพบว่าธุรกิจยาสูบยังคงแทรกแซงในเกือบทุกวิธีที่เป็นไปได้เพื่อขัดขวางจุดมุ่งหมายของอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและขัดขวางการดำเนินการตามมาตรา 5.3 เช่น ใช้องค์กรบังหน้าออกมาเคลื่อนไหว บิดเบือนวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดโดยอ้างว่าเศรษฐกิจจะประสบกับปัญหาหากปราศจากยาสูบ และอ้างอย่างผิดๆ ว่าการควบคุมยาสูบจะทำร้ายเกษตรกรและครอบครัวของพวกเขา ขยายความเท็จเหล่านี้โดยหวังว่าจะโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายลดมาตรการควบคุมยาสูบ

2

ดร.แอนเดรียน่า กล่าวว่า การควบคุมยาสูบที่ประสบผลสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่บทบาทเฉพาะหน่วยงานด้านสุขภาพเท่านั้น เพราะหลายๆ มาตรการในการควบคุมยาสูบ เช่น ภาษียาสูบ การค้ายาสูบผิดกฎหมาย หรือการเพาะปลูกยาสูบ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านต่างๆ ดังนั้นงานควบคุมยาสูบโดยเฉพาะในมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC ซึ่งเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบจึงมีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน และควรบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทน และพนักงานในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ในทุกระดับ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่รับผิดชอบกำหนดและนำนโยบายควบคุมยาสูบไปปฏิบัติ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่และองค์กรบังหน้าเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้การควบคุมยาสูบไทยไม่สำเร็จ ซึ่งบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะบริษัทบุหรี่ข้ามชาติใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อแทรกแซงการกำหนดนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิ่งเต้นให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการด้านการค้ากดดันให้รัฐบาลไทยเปิดตลาดให้บุหรี่นอกเข้ามาขายได้ในช่วงปี พ.ศ. 2532-2533 แถมยังมีความพยายามให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎหมายห้ามโฆษณาและยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า 

ทั้งนี้ หลังจากบุหรี่นอกเข้ามาขายในประเทศไทยได้ มีหลักฐานชัดเจนว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยังดำเนินการวิ่งเต้นให้มีการแก้กฎหมายให้สามารถอุปถัมภ์ทุนด้านกีฬา แทรกแซงไม่ให้มีการออกกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อมาควบคุมยาสูบ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎกระทรวงเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ คัดค้านการขึ้นภาษียาสูบ รวมทั้งยาเส้น และคัดค้านภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ รวมทั้งยังสนับสนุนทุนให้นักวิจัยไทยเพื่อควบคุมทิศทางการวิจัยให้เป็นประโยชน์กับบริษัทบุหรี่ เช่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องพิษภัยจากควันบุหรี่มือสอง 

นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสมาคมการค้ายาสูบไทยกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการกดดันรัฐบาลไทยไม่ให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบหรือขึ้นภาษียาสูบ

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมยกร่างมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากบริษัทบุหรี่และผู้เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ มาตรา 5.3 วางแนวปฏิบัติสำคัญไว้ 8 เรื่อง ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้กับทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 

สำหรับคำแนะนำทั้ง 8 เรื่องได้แก่ 1. สร้างความตระหนักถึงพิษภัยของการเสพติดยาสูบ และความรู้ให้เท่าทันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2. ไม่มีความจำเป็นที่หน่วยงานรัฐต้องติดต่อกับบริษัทบุหรี่ ยกเว้นเพียงกรณีเดียวคือ การติดต่อเพื่อให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมยาสูบเท่านั้น 3. หากจำเป็นต้องติดต่อธุรกิจยาสูบต้องทำอย่าง "เปิดเผย โปร่งใส" โดยต้องเปิดเผยรายละเอียดการพบต่อสาธารณะ 

4. หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนและควรมีแนวปฏิบัติเรื่องนี้ให้เจ้าหน้าที่ยึดถือ รวมทั้งต้องไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหรือการดำเนินการตามนโยบายควบคุมยาสูบ 5. ต้องให้ธุรกิจยาสูบแจ้งข้อมูลการทำธุรกิจให้แก่รัฐและมีการจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ 6. ไม่อนุญาตธุรกิจยาสูบดำเนินการใดๆ ที่อ้างว่ารับผิดชอบต่อสังคม 

7. รัฐบาลต้องไม่ลงทุนในธุรกิจยาสูบ หรือให้ผลประโยชน์ใดๆ แก่ธุรกิจยาสูบ กรณีมีกิจการยาสูบของรัฐอยู่แล้ว ต้องแน่ใจว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมยาสูบ 8. ปฏิบัติต่อกิจการยาสูบของรัฐเท่าเทียมกับธุรกิจยาสูบอื่น และต้องแยกฝ่ายกำหนดและปฏิบัติตามนโยบาย ออกจากฝ่ายที่ดำเนินกิจการยาสูบของรัฐ

"ประเทศไทยยังดำเนินการตามแนวปฏิบัติทั้ง 8 ข้อได้ไม่ค่อยดี เรายังสร้างความตระหนักเรื่องพิษภัยของยาสูบและการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ได้น้อยทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการออกแนวปฏิบัติในเรื่องนี้สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เหมือนอย่างที่ในหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเข้ามาทำหน้าที่และต้องการจะเร่งแก้ไขเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เพิ่มเรื่องแนวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกนี้ไว้ด้วย เพื่อควบคุมการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การควบคุมยาสูบของประเทศไทยก้าวหน้าช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนไทย" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

2

รศ.พญ. เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และผู้จัดการศูนย์วิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การแทรกแซงของบริษัทบุหรี่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบันเน้นหนักไปในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า และกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากการศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทบุหรี่และองค์กรบังหน้าอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีการใช้ 5 กลยุทธ์เพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 

ได้แก่ 1. เคลื่อนไหวโดยองค์กรบังหน้า จะเห็นว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติไม่ได้ออกหน้าเองตรง ๆ แต่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าใช้ชื่อว่า "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ" ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่ากลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ คือเป็นสมาชิกองค์กรที่ได้รับเงินมาจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และเข้าร่วมกิจกรรมที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติในหลายประเทศ 

2. วิ่งเต้นผู้กำหนดนโยบาย จะเห็นว่าคนกลุ่มดังกล่าวเข้าพบรัฐมนตรี นักการเมืองหลายคนเพื่อโน้มน้าวให้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โดยปรากฏภาพทางสื่อต่าง ๆ และยังวิ่งเต้นจนได้รับแต่งตั้งเข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการในสภาผู้แทนราษฎรชุดหนึ่งในการพิจารณากำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้ขัดต่อแนวปฏิบัติในมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอย่างชัดเจนที่ห้ามให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหรือการดำเนินการตามนโยบายควบคุมยาสูบ 

3. บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อต่าง ๆ โดยอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าหรือช่วยเลิกบุหรี่ได้หรือไม่ทำให้เด็กสูบบุหรี่เพิ่ม ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้ล้วนขัดกับข้อมูลทางวิชาการโดยสิ้นเชิง เป็นการนำข้อมูลด้านเดียวที่ออกมาจากฝั่งธุรกิจที่ต้องการจะขายบุหรี่ไฟฟ้ามานำเสนอ 

4. ข่มขู่ ดิสเครดิต นักวิชาการและเครือข่ายที่ทำงานควบคุมยาสูบ เช่น มีความพยายามยื่นถอดถอนงานวิจัยที่ออกมาเปิดโปงเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า หรืองานวิจัยที่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังบิดเบือนข้อมูลโจมตีหน่วยงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่ออกมารณรงค์บุหรี่ไฟฟ้า และ 

5. บริษัทบุหรี่ข้ามชาติให้ทุนสนับสนุนก่อตั้งมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันยาสูบเป็นเงินถึงปีละ 80 ล้านดอลล่าร์ต่อเนื่อง 12 ปีเพื่อสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและสนับสนุนเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลกให้วิ่งเต้นล้มกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และทำให้การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอ่อนแอลง ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่บริษัทบุหรี่วิ่งเต้นจนมีการออกกฎหมายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า กำหนดอัตราภาษีบุหรี่ไฟฟ้าต่ำกว่าบุหรี่มวน ลดอายุผู้สูบจาก 21 เหลือ 18 ปี และยังเปลี่ยนหน่วยงานที่ควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงด้านการค้า ซึ่งพบว่าเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่วิ่งเต้นในฟิลิปปินส์ เป็นเครือข่ายเดียวกับ "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ" ที่กำลังวิ่งเต้นบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

รศ.พญ.เริงฤดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนประเทศไทย รวมเกือบ 40 ประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นผลกระทบอย่างร้ายแรงที่จะเกิดต่อเด็กและเยาวชน และประเทศเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้า บทเรียนจากหลายประเทศที่บริษัทบุหรี่ยังวิ่งเต้นไม่สำเร็จ เพราะความเข้มแข็งในการทำงานด้านการควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ สุขภาพและประชาสังคม เช่น บราซิล เม็กซิโก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศไทยโดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ควรศึกษาจากบทเรียนในประเทศเหล่านี้ ส่วนที่เครือข่ายบริษัทบุหรี่มักอ้างให้ไปดูประเทศที่ไม่ได้ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ก็ขอให้ไปดูผลกระทบที่เกิดแล้วกับเด็กและเยาวชนในประเทศเหล่านั้น เพื่อพิจารณานโยบายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบปราศจากการแทรกแซงจากเครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า