ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าที่จะสิ้นสุดลงง่ายๆ สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจ การเงิน-การคลัง ทั่วโลก และทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป้าหมายหนึ่งของ SDGs คือ ภายในปี 2030 หรือในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า “ทั่วโลก” จะต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นั่นก็เพื่ออุดช่องโหว่ “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบสาธารณสุข และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ “ล้มละลาย” จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ทั่วโลกต่างให้สัตยาบันไว้เมื่อปี 2019 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติว่าจะทำให้ได้ และทำให้เร็ว เพราะเห็นปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย หรือประเทศยากจนในแอฟริกา

แต่คำถามสำคัญที่ยังแวดล้อมอยู่ก็คือ ด้วยสถานการณ์อย่างนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีโอกาส “ไปต่อ” หรือไม่?

รายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุด พบข้อน่ากังวลของการเดินหน้าระบบต่อจากนี้ แม้ว่าโรคระบาดอย่างโคโรนาไวรัส 2019 จะทำให้เห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีความจำเป็นมากแค่ไหนทั่วโลกก็ตาม

บทความล่าสุดโดย เวยน์ อิวานา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ และ “อาเจย์ แทนดอน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลกพบว่า ท่ามกลางวิกฤต รายได้ของภาครัฐนั้นลดลงอย่างชัดเจน จากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

หลายประเทศ “หนี้” ท่วม และจะท่วมต่อไปอีกสักระยะ และหากเทรนด์ยังคงเป็นไปอย่างนี้ก็เป็นไปได้สูงที่ประชากรทั่วโลกจะใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ และใช้บริการทางสุขภาพที่จำเป็นน้อยลงเนื่องจากรายได้ลดลง

และแน่นอน เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็ทำให้รัฐเลือกที่จะ “ลงทุน” กับการพัฒนาระบบสุขภาพน้อยลง นั่นยิ่งมีโอกาสสูงที่พัฒนาการด้าน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะไปไม่ถึงไหน

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกในอินโดนีเซีย ลาว หมู่เกาะโซโลมอน และเวียดนาม พบว่าโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบกับการเงินการคลังในระบบสุขภาพแล้ว ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและในแปซิฟิค

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดว่ามีการ “อัดฉีด” งบประมาณจำนวนมากลงไปในองคาพยพด้านสุขภาพในช่วงเวลาของการระบาดของเชื้อไวรัส จะทำให้ระบบสุขภาพยั่งยืนมากขึ้น แต่เปล่าเลย... การศึกษาจากธนาคารโลกพบว่า งบประมาณส่วนใหญ่ที่ลงไป เป็นงบประมาณฉุกเฉินเฉพาะหน้า สำหรับการจัดการโรคโควิด-19 มากกว่า

เงินก้อนเหล่านี้เมื่อให้แล้วก็หมดไป สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการสร้าง “ระบบ” หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน หากเกิดวิกฤตลักษณะนี้อีก

ใน “อินโดนีเซีย” มีการจัดสรร “งบกลาง” ลงไปในด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 5.2% เป็น 8.7% ในปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2021 แน่นอน การเพิ่มขึ้นของงบประมาณสร้าง “ความหวัง” ว่าอาจมีการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเริ่มต้นจากการจัดการระบบข้อมูล เพื่อนำไปสู่การ “เทสต์” ผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรัฐบาลมี “ข้อมูล” ด้านสุขภาพของประชากรแล้ว ก็อาจทำให้ระบบสุขภาพแข็งแรงขึ้น ปฏิรูปได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ใน “เวียดนาม” รัฐบาลไม่ได้เพียงแต่เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเพิ่มงบประมาณลงไปในด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ส่วนที่ “ลาว” และ “หมู่เกาะโซโลมอน” ก็มีความพยายามเพิ่มเงินทุนลงไป ไม่เฉพาะในด้านการจัดการเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เท่านั้น ทว่าภาคีด้านต่างๆ รู้ดีว่า ทั้ง 2 ประเทศ ต้องสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งควบคู่ไปด้วย เพื่อจัดการปัญหา “ความยากจน” ในระยะยาว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกและรัฐบาลทั่วโลกต้องทำ ก็คือการ “ตบ” และ “เกลี่ย” งบประมาณด้านสาธารณสุขที่งอกขึ้นมามหาศาลหลังเกิดวิกฤตโรคระบาด ไม่ให้ลงไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโควิด-19 อย่างเดียว แต่ต้องลงไปสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

ข้อเสนอแนะจากธนาคารโลกก็คือ แม้รายรับจากรัฐบาลจะน้อยลงและรายจ่ายจะมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรทุกประเทศก็ไม่ควร “ทิ้ง” การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งยังเห็นว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศควรต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ในการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสามารถให้การรักษาตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ไปจนถึงการรักษาขั้นสูง

นอกจากนี้ ภาคกระทรวงการคลัง ควรวางแผนระยะยาวในการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอลงไปในระบบสุขภาพ โดยอาจต้องหา “ภาษี” ที่สนับสนุนระบบสุขภาพโดยตรง และหาโอกาสมากขึ้นในการเคลียร์หนี้สินด้านสุขภาพ หากมีโอกาส

โดยสรุป โควิด-19 ทำให้เห็นความเชื่อมโยงด้านการเงินการคลัง และระบบสุขภาพที่ชัดเจนมากขึ้น และนอกจากการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการรักษาโรค ไปจนถึงเรื่องการจัดหาวัคซีนแล้ว การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น และเพื่อลดภาระทางการเงินของประชาชนในการรักษาโรค ก็จะทำให้แต่ละประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้น พร้อมกับการ “ฟื้นฟู” ประเทศหลังวิกฤตมากขึ้น

และที่สำคัญ จะยิ่งทำให้แต่ละประเทศสามารถตั้งการ์ด เตรียมพร้อมได้มากขึ้น หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต