ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปี 2020 คือปีที่ “ทำลายล้าง” ระบบสาธารณสุขทั่วโลก จากวิกฤตโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมแล้วเกือบ 80 ล้านคน และน่าจะถึง 100 ล้านคนในไม่ช้า โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1.7 ล้านคน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขมีความสำคัญอย่างมากในช่วงเวลานี้ และที่เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายรัฐบาลทั่วโลกก็คือ จะทำอย่างไรในการหา “สมดุล” ระหว่างการจัดการโรคโควิด-19 และการจัดระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน

ตอนหนึ่งในบทความขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เรื่อง “10 ประเด็นด้านสุขภาพทั่วโลกที่ต้องติดตามในปี 2021” ระบุว่า โควิด-19 กลายเป็นตัวการสำคัญที่ “ขัดขวาง” พัฒนาการด้านสุขภาพที่ก้าวหน้ามาด้วยดีตลอด 2 ทศวรรษ

จากเดิมที่รัฐบาลทั่วโลกจะ “โฟกัส” ไปยังการพัฒนาระบบเพื่อให้ “เข้าถึง” คนส่วนใหญ่อย่างเท่าเทียม และพัฒนาคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าโจทย์ใหญ่ของปีนี้ กลับเป็นการทุ่มเทสรรพกำลังไปสู่การรักษาโรคระบาด

แน่นอน หลายประเทศประสบความสำเร็จ แต่หลายประเทศก็ล้มเหลว ผู้ป่วย มีมากเกินกว่าที่ระบบจะรับมือได้

WHO จึงสรุปว่า ในปี 2021 จะเป็นปีที่สำคัญในการจัดระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพโลก ให้มีความกลมกลืนกันมากขึ้นระหว่างการจัดการโรคระบาด และการจัดการปัญหาด้านสาธารณสุขด้านความเท่าเทียม-การเข้าถึงระบบ

WHO ได้สรุป 10ประเด็นสำคัญ ที่เป็น “เทรนด์” ด้านสุขภาพของปีหน้าไว้ เพื่อกำหนดทิศทางที่ควรจะเป็นของแต่ละประเทศสมาชิก

หนึ่งในประเด็นที่ WHO ให้ความสำคัญก็คือการจัดการกับความ “เหลื่อมล้ำ” ด้านสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคโควิด-19 ได้ทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในแต่ละประเทศ รวมถึงทำให้ช่องว่างด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุขนั้น ห่างออกไปมากกว่าเดิม

WHO ระบุอีกว่า ในปี 2021 จะใช้ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นตัวนำในการลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพตามพันธสัญญาที่แต่ละประเทศเคยลงนามไว้ โดยเชื่อว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถแก้ปัญหาความ “ไม่เท่าเทียม” ด้านสุขภาพได้ ทั้งในเขตเมือง – เขตชนบท ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้ด้อยโอกาส

นอกจากนี้ อีกข้อใหญ่ที่ WHO ระบุว่าจะเป็น “เทรนด์” ภายใต้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือการสร้างระบบ “สุขภาพปฐมภูมิ” ซึ่ง WHO สะท้อนว่า ระบบปฐมภูมิเป็นระบบที่ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับฐานรากมากที่สุด

ฉะนั้นหากระบบสุขภาพปฐมภูมิทำได้ดี ก็จะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถ “วิเคราะห์” ปัญหาสุขภาพของประชากรได้ และวิเคราะห์ความต้องการของประชาชนได้

การมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่แข็งแรงจะช่วยตั้งแต่การคลอดบุตรที่ปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนที่จำเป็นตั้งแต่เกิด และประชาชนสามารถตรวจเชื้อโควิด-19 และรู้ผลได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีระบบปฐมภูมิใกล้บ้านที่ดี

ก่อนหน้านี้ แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โรคระบาดสะท้อนให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลานี้มีความ “จำเป็น” มากกว่าช่วงเวลาไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเร่งผลิควัคซีน-แจกจ่ายวัคซีน และรักษาโรคโควิด-19 การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยให้ขั้นตอนเหล่านี้ เป็นไปอย่าง “ราบรื่น” ขึ้น

นั่นเพราะรัฐมีข้อมูลของประชากรทุกคน และประชากรทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ทำให้ “ระยะห่าง” ระหว่างประชาชน และระบบถูกบีบจนเหลือเล็กลง หรือแทบไม่เหลือเลย ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ

สำหรับความท้าทายอื่นๆ ในปีนี้ WHO ประเมินว่า มีตั้งแต่การสร้างความ “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ให้เกิดความมั่นคงด้านระบบสุขภาพทั่วโลก เช่น การร่วมมือกันของแต่ละชาติในการจัดการโรคโควิด-19 ร่วมกัน ความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนและยารักษาโรค รวมถึงการสร้าง “พาร์ทเนอร์” ใหม่ๆ เพื่อจับคู่ประเทศที่แข็งแกร่ง กับประเทศที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพมากกว่า

ในปี 2021 WHO จะยึดหลักการที่ว่า “จะไม่มีใครปลอดภัย ในเมื่อทุกคนยังคงไม่ปลอดภัย” หรือ No one is safe until everyone is safe

วาระอย่างการ “เร่งเครื่อง” ผลิตและจัดหาวัคซีน ตรวจเชื้อ และรักษาโรคโควิด-19 ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยปัจจัยสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์นี้ คือมี “แหล่งทุน” ที่พร้อมจ่ายและมีเงินสำรองสำหรับทุกคนที่ต้องการ

เป้าหมายของ WHO ในปี 2021 ก็คือสามารถแจกจ่ายวัคซีน 2,000 ล้านชิ้น ไปยังทั่วโลก มีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างน้อย 245 ล้านคน และสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้อย่างน้อย 500 ล้านเทสต์ ในประเทศรายได้ปานกลาง-รายได้ต่ำ ไปจนถึงร่วมสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแรงในประเทศเหล่านี้

นอกจากนี้ WHO ยังยกให้เทรนด์ การจัดการความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการจัดระบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, การจัดการโรคติดต่ออื่นๆ เช่น ไข้เหลือง, มาลาเรีย, วัณโรค จัดเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อในปี 2021 รวมถึงการจัดหาวัควีนอื่นอย่างวัคซีนโปลิโอ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อ

ทั้งนี้ WHO ยังคงยืนยันเป้าหมายเดิม ในการจัดการโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ให้ได้ ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

การจัดการเชื้อดื้อยา การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การฟื้นฟูระบบสุขภาพโลก และการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ต่างก็เป็นเรื่องที่ WHO “รับปาก” จะให้ความสำคัญ โดยทั้งหมดนี้แม้จะเป็นวาระเดิมก่อนหน้าจะเกิดโรคโควิด-19 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีโรคโควิด-19 แล้วปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และจะอยู่ต่อไปแม้โควิด-19 จะหายไป

เพราะฉะนั้น การเดินเครื่อง “เทรนด์” สุขภาพทั้งหมดไปพร้อมๆ กับการจัดการความยุ่งเหยิงจากโรคโควิด-19 จึงเป็นทั้ง “ความท้าทาย” และยังเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อ โดยทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปไม่ได้เลย