ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติปี 2562 ผู้นำนานาประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชากรของตนเอง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งต้องบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573

โดยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องครอบคลุมบริการด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

แต่หลายประเทศยังคงให้ความสำคัญกับบริการด้านสุขภาพกาย จนขาดการพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจิต

ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตถูกตอกย้ำในรายงาน “No health without mental health” ซึ่งจัดทำโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร United for Global Mental Health และเผยแพร่ก่อนหน้าวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก ในวันที่ 12 ธ.ค. 2563

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลและฝ่ายนโยบาย ลงทุนกับบริการด้านสุขภาพจิตให้มากขึ้น เพราะปัญหาสุขภาพจิตกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชากรเกือบ 1,000 ล้านคนทั่วโลกกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต หรือใช้สารเสพติดอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ

ประชากร 264 ล้านคนเป็นโรควิตกกังวล หรือมีภาวะวิตกกังวล
322 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีภาวะซึมเศร้า
800,000 คนฆ่าตัวตายในแต่ละปี ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเยาวชนอายุ 15-29 ปี

ปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตพบในประเทศที่มีรายได้สูงถึงต่ำ

องค์การอนามัยโลกทำการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยกลุ่มโรคซึมเศร้าใน 21 ประเทศ พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยในประเทศรายได้สูงไม่สามารถเข้าถึงบริการ ขณะที่ในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ มีอัตราส่วน 1 ใน 27

กลุ่มประชากรเปราะบางมีความเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชสูง ความเปราะบางอาจสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ เช่น ความยากจน ความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความรุนแรงในเด็กและครอบครัว การเหยียดเพศและเชื้อชาติ

ช่องว่างด้านบริการสุขภาพจิต ยังแสดงออกผ่านปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ด้านจิตเวช

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่ามีบุคลากรทางการแพทย์เพียง 1% ที่อยู่ในสายงานจิตเวช จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชคิดเป็นสัดส่วน 9 คนต่อประชากรโลก 100,000 คน และมีเพียง 2 คน ต่อประชากร 100,000 คนในประเทศรายได้น้อย

ปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตปรากฎให้เห็นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เช่นในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า เมื่อเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำและความไม่แน่นอนในอนาคต

ระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกาไม่มีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ เนื่องจากต้องระดมทรัพยากรไปรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดย 1 ใน 6 ของประชากรชาวอเมริกัน ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตเมื่อตนมีปัญหา เพราะค่าปรึกษาแพทย์และค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพง

มีรายงานปัญหาคล้ายคลึงกันในประเทศอื่น เช่น ในเอธิโอเปีย มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าในระหว่างเกิดโรคระบาด ในแอฟริกาใต้ พบปัญหายาจิตเวชขาดแคลนในร้านยาที่ดำเนินการโดยภาครัฐ

รายงาน “No health without mental health” จึงเสนอว่ารัฐบาลและฝ่ายนโยบายของทุกประเทศ ต้องบูรณาการบริการด้านสุขภาพจิตในระบบสุขภาพภาพรวม ประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประเทศที่กำลังริเริ่มสร้างหลักประกันสุขภาพ ต้องขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการรักษาและป้องกันโรคสุขภาพจิต

บนแนวคิดที่ว่า การบริการด้านสุขภาพจิตไม่ใช่ “ของแถม” ของการรักษาโรคทางกาย แต่เป็นบริการที่ต้อง “อยู่คู่กัน”

เพราะมีการศึกษาหลายชิ้นที่พิสูจน์แล้วว่า เมื่อคนป่วยทางใจ ความเจ็บป่วยร่างกายจะตามมา โดยผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท มีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยมากกว่าคนที่ไม่มีโรคในอัตรา 40-60% คนที่มีโรคจิตเภทรุนแรงมีแนวโน้มที่อายุขัยจะน้อยกว่าคนทั่วไป 20 ปี

นอกจากนี้ ควรดึงชุมชนและผู้ป่วยเข้ามามีบทบาทในการรักษา บนหลักการ “ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” แทนที่จะรักษาแบบสั่งการ ในลักษณะแพทย์สั่ง ผู้ป่วยทำตาม ซึ่งมักทำให้การรักษาขาดประสิทธิผล

รายงานชี้ว่า แม้แต่ในประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ยังคงใช้วิธีการรักษาแบบสั่งการ ทั้งยังขาดการทำงานด้านส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจให้กับประชากรในทุกกลุ่มและทุกวัย

นอกจากนี้ ระบบสุขภาพต้องเปลี่ยนแนวคิดต่อบริการด้านจิตเวช โดยมองว่ามันคือ “การลงทุน” ด้านสุขภาพที่สร้างความมั่นคงให้ประชากรในประเทศ ไม่ต่างกับการลงทุนในบริการรักษาโรคทางกาย

หากเปลี่ยนแนวคิดได้แล้ว ก็เชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายนโยบายจะจัดสรรทรัพยากรลงมาที่บริการด้านสุขภาพจิตมากกว่าที่เป็นอยู่