ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามจุดเน้นปี 2563 ไตรมาสที่ 1 พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมชมดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนกองทุนฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้พิการและผู้สูงอายุ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (อบจ.ลำพูน) ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุดแรก ๆ ที่เข้าร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในปี 2555 ภายใต้แนวคิดที่ อบจ.เป็นหุ้นส่วนกับ สปสช. ไม่ใช่แขนขาของหน่วยงานส่วนกลาง และใช้ทุนทางวัฒนธรรมชุมชนที่เรียกว่า "วิถีครูบางานหน้าหมู่" เป็นแนวคิดการทำงาน 

นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน ขยายความว่า ครูบาในที่นี้หมายถึงครูบาเจ้าศรีวิชัยซึ่งเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของชาวลำพูน "วิถีครูบา" ก็คือหลักสามัคคีธรรมที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้ในการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยผลงานที่มีชื่อเสียงก็คือการตัดถนนขึ้นดอยสุเทพนั่นเอง ส่วนคำว่า "งานหน้าหมู่" ในภาษาเหนือหมายถึงงานส่วนกลางของทุกคน วิถีครูบางานหน้าหมู่จึงเป็นหลักของคนลำพูนที่หลอมกันว่าการทำงานเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุเป็นงานของทุกคน ทุกคนมาร่วมกันทำ

สำหรับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้พิการ ผู้มีภาวะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และผู้มีภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ให้ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในชุมชนและในหน่วยบริการ ส่วนแนวทางการบริหารจัดการก็ไม่ต่างจากกองทุนฟื้นฟูฯของพื้นที่อื่น ๆ คือ  สปสช.และ อบจ. สมทบงบประมาณดำเนินงานกองทุน มีคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัด โดยมีนายก อบจ. เป็นประธาน มี สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาและกำกับติดตาม มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นรองประธาน ดำเนินงานส่งเสริมสนับสนุนหน่วยบริการ องค์กรผู้สูงอายุและผู้พิการ ชุมชนและครอบครัว สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะฟื้นฟู (sub acute) ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

นายนิรันดร์ กล่าวว่า ในช่วงแรกของการดำเนินงานก็มีความกังวลใจอยู่บ้าง เพราะแนวคิดการทำงานจากส่วนกลางและท้องถิ่นค่อนข้างแตกต่าง ทางท้องถิ่นก็เป็นห่วงว่าจะกลายเป็นแขนขาของหน่วยงานส่วนกลาง ไม่มีอิสระในการทำงาน แต่เมื่อทำงานร่วมกันมาก็มีการปรับจูนแนวคิดจนถึงปัจจุบัน สปสช.ขยายบทบาทให้แต่ละกองทุนสามารถคิดงานได้เอง ถือเป็นทิศทางที่ดีและคิดว่าการร่วมมือนี้ไม่ได้เป็นลักษณะของสายการบังคับบัญชา แต่เป็นหุ้นส่วนกันในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

"เมื่อเป็นหุ้นส่วนกัน กระบวนการทำงานก็จะเข้าใจกันง่ายขึ้น สปสช.อาจคิดในส่วนของภาพใหญ่ ในเชิงหลักวิชาการ แต่เราคิดในเชิงการบริการในท้องถิ่น แล้วร่วมกันเป็นหุ้นส่วน" นายนิรันดร์ กล่าว

สิ่งที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของกองทุนฟื้นฟูฯจังหวัดลำพูนคือมีการจัดทำหลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณกองทุนฯ โดยปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนงานให้มีความคล่องตัว เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ บูรณาการงานให้สอดคล้องกับนโยบายและระเบียบปฏิบัติของทุกภาคส่วน สนับสนุนการส่งเสริมการดำเนินงานแทนการจัดซื้อจัดหา ขยายการขอรับการสนับสนุนสู่กลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น มีระบบการสนับสนุนที่ยืดหยุ่นและเอื้อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ มีความชัดเจน ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน และมีการติดตามกำกับ ประเมินผลงานที่ชัดเจน

หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ก็คือการประยุกต์สิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์ใหญ่ ๆ ของระดับชาติให้ลงมาเป็นคู่มือหรือเป็นแนวทางให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมาจากหลายภาคส่วนเข้าใจง่ายขึ้น จะได้เป็นคู่มือให้คณะกรรมการบริหารใช้เทียบเคียงเวลาอนุมัติงบประมาณ เช่น ถ้ามีการขอโครงการมา โครงการนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายระดับชาติหรือไม่ ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ก็จะมีวงเล็บบอกไว้ว่ากลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คณะกรรมการก็จะเข้าใจได้ทันทีว่ากลุ่มไหนควรได้การช่วยเหลือแบบไหน และง่ายต่อการตัดสินใจในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ขณะพิจารณางบประมาณ

"จุดหนึ่งที่จำเป็นต้องคิดหลักเกณฑ์ขึ้นมาเพราะในช่วงแรกของกองทุนฟื้นฟู ส่วนกลางไม่ได้ออกแนวทางอะไรที่ชัดเจน เราก็ไปเรียนรู้ศึกษาจากหลายจังหวัดแล้วพบว่าไม่มีอะไรถูก อะไรผิด เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าถ้าแบบนี้เราต้องมีหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชุมชนกับนโยบายระเบียบต่าง ๆ แล้วนำมาใช้เป็นแนวทางของคณะกรรมการบริหาร หลักเกณฑ์ถูกปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายส่วนกลางและบูรณาการเข้ากับวิถีชุมชน เพื่อให้สะดวก ไม่ขัดหลักเกณฑ์ สอดคล้องกับวิถี ความคิด ความเชื่อของชุมชน" นายนิรันดร์ กล่าว

นายนิรันดร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในการทำงานร่วมกัน คนจากส่วนกลางก็จะเอาแบบส่วนกลาง ท้องถิ่นก็จะเอาแบบท้องถิ่น จึงต้องมาประนีประนอมให้ลงตัวอยู่ในหลักเกณฑ์ของกองทุน ตรงไหนทำได้ตรงไหนทำไม่ได้ ถกกันจนลงมาเป็นหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติ หน่วยที่รับไปดำเนินการก็จะเข้าใจหลักเกณฑ์

"แม้แต่ระเบียบจากส่วนกลางส่งมาให้เราทำ เราก็ไม่ทำ จนกว่าจะมาปรับให้เข้ากับหลักเกณฑ์ของเราก่อน มีวิธีระเบียบเบิกจ่ายที่เข้าใจกันทุกฝ่าย เพราะหลักการเราคือวิถีครูบางานหน้าหมู่ ต้องมีส่วนร่วม ต้องเข้าใจกันทุกฝ่าย มันยากตั้งแต่ตอนแรกแต่เวลาดำเนินการจะง่ายในตอนปลาย" นายก อบจ.ลำพูน กล่าว

เมื่อหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ถูกปรับให้เข้ากับบริบทในพื้นที่แล้ว ในส่วนของการการดำเนินงาน ก็จะเน้นการเข้าใจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีการลงไปในพื้นที่ไปรับรู้สภาพความเป็นอยู่ ความรู้สึก และความต้องการของผู้พิการและผู้สูงอายุ จากนั้นร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้วยหลักวิถีครูบางานหน้าหมู่ โดยนโยบายของ อบจ.ต้องการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกพื้นที่รับผิดชอบ จึงต้องอาศัยเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าพื้นที่ละ 5 ราย

กระบวนการการช่วยเหลือ ทาง อบต.หรือเทศบาลในพื้นที่ส่งเอกสารคำร้องเข้ามา จากนั้นคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ ลงพื้นที่สำรวจบ้านผู้พิการ แล้วนำข้อมูลมาให้อนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลั่นกรองก่อนเสนอให้คณะกรรมการกองทุนอนุมัติทุก ๆ 2 เดือน จากนั้น อบจ.ทำ MOU กับ อปท.ในพื้นที่เพื่อโอนเงินให้จัดหาวัสดุก่อสร้างตามแบบแปลนและราคาประเมินตามจริงรายละไม่เกิน 50,000 บาท การดำเนินการก่อสร้างก็จะใช้แรงงานอาสาภายในชุมชนมาทำงานหน้าหมู่ร่วมกัน เมื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมเสร็จแล้วจึงส่งมอบแก่ผู้พิการหรือผู้สูงอายุรายนั้น ๆ

"ในส่วนของการผสานความร่วมมือของเรากับเครือข่ายจะ MOU กันหมด ทุกคนจะเข้าใจระบบงานหน้าหมู่ การประสานงานก็ทำ MOU กับเทศบาลและมอบหมายภารกิจ เทศบาล/อบต.เป็นคนออกแบบคุมงานให้ ชาวบ้านร่วมออกแรงช่วยก่อสร้าง เรามีหน้าที่จ่ายเงินค่าของและส่งมอบบ้าน" นายนิรันดร์ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีวงเงินที่ อบจ.และ สปสช.สมทบกันจำนวน 30 ล้านบาท ใช้ไปแล้ว 21 ล้านบาท หรือ 70.29% แยกเป็นการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย 360 หลัง เป็นเงิน 11.8 ล้านบาท จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ 1,716 ชิ้น เป็นเงิน 7.2 ล้านบาท และใช้จ่ายในด้านการบริหารจัดการอีกประมาณ 2.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในความคิดของนายก อบจ.ลำพูนยังมองว่าอยากให้ สปสช. ขยายบทบาทกองทุนฯในการช่วยเหลือให้มากขึ้นเพราะที่ผ่านมาก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังตกหล่นอยู่อีก

"ที่เห็นข้อจำกัดเลยคือกระบวนการทางระเบียบกฎหมายที่ค่อนข้างแข็ง ทำให้การบริการไม่สามารถใช้ได้ทันเวลา หลายคนเสียชีวิตไปก่อน หลายคนก็ไม่ได้ประโยชน์เลย เช่น กองทุนเราต่อสู้ในเรื่องการให้บริการผู้พิการทางหู คิวในการรับบริการยาวมาก 2,000-3,000 คน กระบวนการแบบนี้น่าจะมีวิธีการเปิดช่องให้ท้องถิ่นดำเนินการได้โดยไม่ผิดระเบียบเพื่อจะได้ให้บริการได้รวดเร็วมากขึ้น" นายนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย.