ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่องของ “นักอนามัยช่องปาก” ได้กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ภายหลังจากข้อมูลที่ทางทันตแพทยสภาได้บอกกับ “The Coverage” ว่าจะผลักดันให้มีตำแหน่งนักอนามัยช่องปาก ถูกบรรจุอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งจะเป็นอีกสายงานใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะเข้ามาเติมเต็มให้กับงานด้านสุขภาพช่องปากในระดับปฐมภูมิมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

ด้วยเพราะงานด้านสุขภาพช่องปาก ไม่สามารถที่จะดูแลแบบสาธารณะหรือทำกิจกรรมครั้งเดียวแล้วทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้นได้กับคนทั้งชุมชน หากแต่บุคลากรทางทันตกรรมจำเป็นจะต้องออกแบบการรักษา รวมถึงการป้องกัน ดูแล และส่งเสริมสุขภาพช่องปากแบบ “รายบุคคล”

แต่แน่นอนว่าด้วยภาระงานที่มากล้นของทันตแพทย์และทันตาภิบาล ที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในเวลานี้ ซึ่งต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ทำให้หลายครั้งการรักษาฟันของผู้ป่วยในชุมชนไม่มีความคืบหน้า เพราะเมื่อรักษาไปแล้วกลับขาดการดูแลติดตามอาการที่ต่อเนื่อง เกิดอาการของโรคที่กลับมาเป็นอีกครั้งและต้องรักษาซ้ำ 

ซึ่งนี่อาจเป็นช่องว่างที่ “นักอนามัยช่องปาก” สามารถเข้ามาร่วมเติมเต็มระบบสุขภาพ และแก้จุดอ่อนในเรื่องสุขภาพช่องปากของคนไทยที่มีมาช้านาน 

The Coverage มีโอกาสคุยกับ 'ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล' อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง เพื่อลงลึกรายละเอียดถึงความจำเป็นของการมี “นักอนามัยช่องปาก” ในทุกมิติ ไล่เรียงตั้งแต่สถานการณ์ Pain Point ของประเทศ หนทางการสร้างบุคลากรด้านนี้เข้ามา รวมไปถึงภาพที่จะเกิดขึ้นยังปลายทางของประชาชน ที่จะได้รับประโยชน์อย่างไรเมื่อเรามีนักอนามัยช่องปากเข้ามาทำหน้าที่ในชุมชน

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

เพราะสังคมสูงวัย ทำให้เราต้องมีนักอนามัยช่องปาก’ 

ทพ.ดร.ธงชัย เปิดบทสนทนาถึง Pain Point สำคัญที่ประเทศไทยต้องมีนักอนามัยช่องปาก นั่นคือปัจจัยหลักของการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เพราะในอนาคตอีกเพียงไม่ถึง 15 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด นั่นหมายความว่าจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 3 หรือ 30% ของประชากรทั้งหมด

ในกลุ่มผู้สูงอายุนี้ หากไม่มีการวางแผนในการดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อป้องกันโรคที่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศที่สูงตามมา แต่ในทางกลับกันหากมีการส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีพอ สร้างความแข็งแรงตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม ก็จะไม่เกิดผลกระทบมากนักต่องบประมาณ 

ขณะเดียวกันเขาเน้นย้ำว่า ความซับซ้อนทางสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกาย ภาวะโรค และการใช้ยา ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มวัยนี้ต้องการองค์ความรู้และสมรรถนะที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มวัยอื่น 

ปัญหาที่ผู้สูงอายุจะเจอบ่อยมากคือความเสื่อมของสภาพช่องปาก ทั้งฟัน เหงือก กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เสื่อมถอยลงไป และส่วนใหญ่จะมีปัญหาการกลืนอาหาร เพราะควบคุมการขยับของปากได้ยากและทำไม่ถูกต้อง จึงเกิดผลให้มีการสำลักอาหาร เศษอาหารเข้าไปติดในหลอดลม จากนั้นก็เกิดการติดเชื้อเข้าสู่ปอด ร่างกาย และทำให้เสียชีวิตได้ หรือส่วนใหญ่จะเจอปัญหาต่อมน้ำลายน้อยลง ก็ทำให้น้ำลายแห้ง เมื่อช่องปากแห้งก็ทำให้ฟันผุง่ายขึ้น

การใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคฟันเป็นหลักดังเช่นที่ผ่านมาจึงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะเราต้องหันมาใส่ใจในด้านคุณภาพชีวิตของประชากรมากขึ้น สุขภาพช่องปากในมิตินี้จึงไม่ได้หมายความเฉพาะการไม่มีโรคหรือจัดการกับโรคได้สำเร็จ แต่หมายความไปถึงการมีสุขภาพช่องปากที่ใช้งานได้ ทั้งกิน กลืน เคี้ยว พูด ยิ้ม หัวเราะ ซึ่งเมื่อมองในมิตินี้จึงมีความจำเป็นในการออกแบบการดูแลที่มีความ “เฉพาะบุคคล”มากขึ้น 

ทพ.ดร.ธงชัย เสริมว่า ดังนั้นนักอนามัยช่องปาก จะเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่หากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะช่วยเร่งการปรับตัวของการผลิตและพัฒนาทันตบุคลากรที่เติมเต็มสมรรถนะส่วนขาดที่เป็นความต้องการของระบบสุขภาพในสังคมสูงวัยได้  โดยจะเป็นบุคลากรซึ่งเข้ามาดูแลอนามัยช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีจุดเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น

"ในอนาคตนักอนามัยช่องปาก จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมทันตบุคลากรที่ดูแลแบบเฉพาะบุคคลในชุมชน ร่วมกันกับทันตแพทย์ที่เข้าไปรักษาคนไข้ โดยเฉพาะการเติมเต็มระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีประชาชนในความรับผิดชอบที่ชัดเจน ทำให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัยของชีวิต และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น” ทพ.ดร.ธงชัย สะท้อนความเห็น

แม้ว่าจะมุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะในแง่ความสามารถในการวางแผนสุขอนามัยช่องปากแบบรายบุคคล หรือ Individual Oral Care Plan แล้วนั้น แต่สมรรถนะที่เคยมีอยุ่เดิมของบุคลากรกลุ่มนี้ในแง่การส่งเสริมสุขภาพช่องปากและการป้องกันโรคฟันผุและเหงือกอักเสบก็ยังคงอยู่ สำหรับสมรรถนะในการรักษาเบื้องต้นจะยังคงอยู่ในระบบการเรียนการสอนบุคลากรกลุ่มนี้ แต่ในแง่การทำงานจะเน้นที่การจัดการตามความเหมาะสมตามบริบทพื้นที่และความพร้อมของทีมทันตบุคลากร 

"เพราะสุขภาพฟันที่ดีจะสะท้อนมาถึงสุขภาพของร่างกายที่ดีตามไปด้วย สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลอนามัยในช่องปากระดับบุคคล  จึงต้องมีการเกิดขึ้นของตำแหน่งนักอนามัยช่องปาก เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้" ทพ.ดร.ธงชัย ย้ำความสำคัญ

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

บรรจุตำแหน่งใน .. ต้องลุ้น สธ.จะเอาด้วยหรือไม่

กระนั้นก็ตาม ทพ.ดร.ธงชัย เสริมว่า นักอนามัยช่องปากจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะใกล้นี้ เพราะขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อสนับสนุนและข้อท้วงติงต่างๆ ว่าหากมีการบรรจุตำแหน่งนักอนามัยช่องปาก โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลักดันเพื่อเปิดตำแหน่งรองรับใน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) จะทำหน้าที่ในส่วนใดบ้าง และต้องเพิ่มเติมในส่วนใดเพื่อสอดรับกับวิชาชีพอื่นๆ ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนอย่างเป็นระนาบเดียวกัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งทันตแพทยสภา อาจารย์ทันตแพทย์จากคณะทันตแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชนก จะต้องร่วมพูดคุยกันถึงการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักอนามัยช่องปาก หรือการให้ทันตาภิบาลที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้ มาอบรมเพิ่มเติมหลักสูตรนักอนามัยช่องปากอีกระยะ 4 เดือน  เพื่อให้มีสมรรถนะเป็นนักอนามัยช่องปากได้  

โดยระหว่างนี้ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยอย่างเป็นทางการร่วมกัน และมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดตำแหน่งนักอนามัยช่องปากขึ้น เพราะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังมองมาที่เป้าหมายเดียวกัน ว่าในระยะอีก 5-10 ปี เราจำเป็นต้องมีบุคคลากรเฉพาะที่ดูแลอนามัยในช่องปากของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในร่างเบื้องต้นที่เป็นบทบาทของนักอนามัยช่องปาก ทพ.ดร.ธงชัย ย้ำว่า จะเป็นบุคลากรทันตกรรมของภาครัฐ ที่มาทำงานให้กับภาครัฐ ทั้งในส่วนสถานพยาบาลสังกัดของ สธ. รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะกับ รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และมุ่งเน้นการอนามัยช่องปากแบบรายบุคคลให้กับประชาชนที่อยู่ในชุมชนนั้น เพิ่มเติมจากงานสาธารณสุขที่จะสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวมให้กับทั้งชุมชน

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

ปลายทางงานในชุมชนนักอนามัยช่องปากทำงานกับหมอฟัน

อย่างไรก็ตาม ทพ.ดร.ธงชัย ให้ภาพว่า เมื่อถึงปลายทางของการผลักดันตำแหน่งนักอนามัยช่องปาก ก็หวังว่า สธ. และสำนักงาน ก.พ. จะเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อบรรจุตำแหน่งนักอนามัยช่องปาก ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ตำแหน่งนี้มีความก้าวหน้า รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาประชาชนในระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะกับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนใหักับ อบจ. ซึ่งปัจจจุบันก็มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ถ่ายโอนไปแล้ว ทาง อบจ. ก็จะมีทางเลือกในการได้กำลังบุคลากรอย่างนักอนามัยช่องปาก เข้ามาทำงานให้กับท้องถิ่น ร่วมกับทันตแพทย์ที่หมุนเวียนกันลงพื้นที่

ทพ.ดร.ธงชัย ให้ภาพตัวอย่างที่เราจะได้เห็นในอนาคตเมื่อมีนักอนามัยช่องปาก คือภาพของทันตแพทย์ที่ลงพื้นที่ชุมชนคู่ไปกับนักอนามัยช่องปาก ตัวอย่างเช่นเมื่อทันตแพทย์ต้องรักษารากฟันเทียม หรือใส่ฟันเทียม เมื่อรักษาเสร็จแล้ว นักอนามัยช่องปากก็จะมาดูแลคนไข้ต่อ หรือในวันใดที่ทันตแพทย์ไม่สามารถลงพื้นที่ไปชุมชนได้ นักอนามัยช่องปากก็ยังทำหน้าที่แทนในการตรวจสุขภาพฟัน ช่องปาก หรือให้บริการรักษาง่ายๆ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน หรือเคลือบฟลูออไรด์ได้ ช่วยให้การดูแลสุขภาพช่องปากในระดับชุมชนเกิดความต่อเนื่อง และไม่ทำให้อาการของโรคลุกลามกลายเป็นเคสที่ยุ่งยากต่อไป

"เมื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและสรุปได้ ว่านักอนามัยช่องปากจะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง ก็จะนำเข้าพิจารณาในกรรมการของทันตแพทยสภา และส่งต่อเรื่องให้กับ สธ.และ กพ.ต่อไป" ทพ.ดร.ธงชัย กล่าวในตอนท้าย