ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"บุญสงค์" ร่วมกับสถานพยาบาล 267 แห่ง มุ่งยกระดับการให้บริการผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย


เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ประจำปี 2567 ระหว่าง สปส. กับ สถานพยาบาลเอกชน โดยมี ผู้บริหาร สปส. รวมทั้งผู้บริหารสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 58 แห่ง สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ 

นายบุญสงค์ กล่าวว่า การจัดพิธีลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 ธ.ค. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคม ได้รับทราบระเบียบ แนวทางปฏิบัติการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถจัดบริการอย่างมีคุณภาพ พร้อมร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดี และพึงพอใจเป็นสำคัญ      

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้ประกันตนมีแนวโน้มเลือกสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดจากความร่วมมือของสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพทั้งมาตรฐานการรักษา และการให้บริการที่เป็นเลิศที่ดีเสมอมา ซึ่งในปี 2567 ได้มีสถานพยาบาลหลักเข้าร่วมโครงการลงนามเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์ จำนวน 267 แห่ง แยกเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ จำนวน 170 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 97 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 7 แห่ง

สำหรับการคัดเลือกสถานพยาบาลคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ประกันตนตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีใจความสำคัญคือ ต้องทำการรักษาผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่าย โดยสถานพยาบาลจะไม่เรียกเก็บเงินค่าบริการทางการแพทย์ มีระบบการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลระดับที่สูงกว่าหรือสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรค เพื่อให้การบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่เกินศักยภาพของสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ให้การบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน                

“สปส. ยังคงมุ่งมั่น โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เท่าเทียม มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในการยกระดับการบริการให้แก่ผู้ประกันตนให้ได้รับความสะดวกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย” เลขาธิการ สปส. ระบุ

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ในวันที่ 20 ธ.ค. 2566 นี้  สปส. จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (telemedicine หรือ telehealth) ระบบนัดหมายให้บริการแก่ผู้ประกันตนล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย พร้อมปรับรูปแบบการจัดบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสมแก่ผู้ประกันตน และการบูรณาการการใช้สิทธิการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตนให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างดีที่สุด