ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ประกันสังคม’ ออกหลักเกณฑ์ – อัตราค่าบริการรักษาผู้ประกันตนที่กรณีข้อเข่าเสื่อมด้วย ‘พลาสมาคุณภาพสูง’ พร้อมระบุ ‘ห้ามสถานพยาบาลเรียกเก็บค่าบริการส่วนเกินเพิ่ม’ จากผู้ประกันตน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 67 เป็นต้นไป


พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงนามใน ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง “หลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง (Plasma Rich Growth Factor (PRGF))” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2567 ถึงวันที่ 3 เม.ย 2568 

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้ประกันตนตามมติคณะกรรมการการแพทย์ ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกันสังคม (ชุดที่ 13) ในการประชุมครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566

สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง มีรายละเอียดดังนี้ 1. ให้ สปส. จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาลที่ทำการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดพลาสมาคุณภาพสูง ในอัตราครั้งละ 3,870 บาท ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี โดยสถานพยาบาลที่ให้บริการจะต้องไม่เรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ส่วนเกินจากผู้ประกันตน

2. ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมและต้องให้การรักษาด้วยการฉีดพลาสมาคุณภาพสูง จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการรักษา ได้แก่ 
- ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมระยะต้นและระยะปลายที่รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม (การรับประทานยา) แล้วไม่ได้ผล
- ผู้ป่วยที่รับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัด และได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์แล้วอาการไม่ดีขึ้น 
- ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนจากยา ระบบทางเดินอาหารและไต และมีโรคที่รับประทานยาแก้อักเสบไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคกะเพาะอาหาร ฯลฯ
- ไม่มีพยาธิสภาพที่เป็นข้อห้ามที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีด (Contraindication)

นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะตามข้อห้ามต่อไปนี้ 
- ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคของเกล็ดเลือดต่างๆ และเลือดออกผิดปกติ
- ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี 
- ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด
- ผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็น inflammatory arthritis 
- ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของกระดูกขาดเลือด เส้นเอ็นไขว้เข่า และหมอนรองกระดูกขาดทั้งหมด เศษกระดูกในเข่า
- ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม ภายใน 3 – 6 เดือน มาในเบื้องต้นและไม่ควรฉีดหลังการฉีกสเตียรอยด์ ภายใน 1 เดือน

3. สถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ต้องมีการติดตามประเมินผลการรักษาผู้ประกันตน โดยรายงานข้อมูลตัวชี้วัด และข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อขอรับค่าบริการทางการแพทย์ดังกล่าว ต่อ สปส. ตามแนวที่ สปส. กำหนดไว้ 

อนึ่ง อ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่นี่ : f7c050f841551de333e5335382c38c96.pdf (sso.go.th)