ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่าความท้าทายสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย หลังพบบริษัทข้ามชาติทุบราคาลงมาสู้เพื่อปิดการขาย พบตัวอย่าง Colostomy bag จากเดิม 300 บาท เหลือแค่ 90 บาท ส่งผลให้สินค้าไทยเริ่มล้มหายตายจากไป


นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การผลักดันผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยคือการต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและต้องเจอการต่อต้าน ทั้งจากตัวผู้ใช้งานที่คุ้นชินกับ eco-system เดิมและจากบริษัทข้ามชาติที่เสียผลประโยชน์ อย่างเช่น Colostomy bag (อุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม) มีการดัมป์ราคาจาก 300 บาทลงมาเหลือ 90 บาท หรือรากฟันเทียมที่คนไทยสามารถผลิตได้เอง บริษัทต่างชาติก็ดัมป์ราคาจาก 7,000 บาท เหลือ 2,000 บาท หรือแม้แต่การกดดันจากสถานทูตของประเทศที่บริษัทข้ามชาตินั้นตั้งอยู่ เช่น การเชิญผู้บริหารของ สปสช. ไปท้วงติง เป็นต้น

"ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่จีน พัฒนาขึ้นมาขนาดนี้ได้เพราะประชาชนของเขาพร้อมที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศพัฒนา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสู้กับแรงต้าน มีแต่การร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ใช่แค่ Colostomy bag แต่ยังมีผลิตภัณฑ์รากฟันเทียม แผ่นปิดกระโหลดศีรษะ วัคซีน และยังจะมีเพิ่มอีกในอนาคต" นพ.สุวิทย์ กล่าว

รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวกับ “The Coverage” ว่า อุปกรณ์ Colostomy bag ที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาได้ผ่านขั้นตอนของการวิจัย การขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดแล้วก็ยังมีความท้าทายอีกมาก ตัวอย่างเช่น บริษัทข้ามชาติที่เคยผลิตภัณฑ์นี้อยู่ที่ 300 บาท/ชุด แต่เมื่อผลิตภัณฑ์ของคนไทยเข้าสู่ตลาด บริษัทเหล่านี้ก็ดัมป์ราคาลงมาเหลือแค่ 90 บาท/ชุด เพื่อทำให้สินค้าของไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ แล้ววันหนึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์ของไทยล้มหายตายจากไป เขาก็จะกลับมาขึ้นราคาอีก นี่คือสิ่งที่เราต้องตระหนักและช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

"ผลิตภัณฑ์ Colostomy bag เราใช้เวลาพัฒนามา 9 ปี แต่เมื่อเทียบกับบริษัทต่างชาติแล้วถือว่าเรายังตามเขาอยู่ แต่เราก็พยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลให้มากที่สุด ต้องยอมรับว่าเรามาทีหลังและทำเพื่อลดการนำเข้า ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้เกิดการใช้งานจริง ถ้าลดการนำเข้าในส่วนนี้ได้ เราก็จะเหลือเงินไปซื้อยาหรืออุปกรณ์ที่มีความจำเป็นและประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตเองได้มากขึ้น" รศ.นพ.วรวิทย์ กล่าว

สำหรับ Colostomy bag เป็นผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย โดยความร่วมมือจากบริษัทเอกชนหลายแห่ง และมี รศ.นพ.วรวิทย์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปัจจุบันได้บรรจุในบัญชีนวัตกรรมไทยตลอดจนบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบบัตรทอง และมีโรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดซื้อเพื่อนำไปให้บริการแก่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่ผ่าตัดเปิดทวารเทียมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำทีมพัฒนา Colostomy bag ฝีมือคนไทย ลงพื้นที่โรงพยาบาลอุดรธานีและโรงพยาบาลหนองคาย เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานจริง โดยมีประเด็นหลักๆ คือ แป้นปิดรอบลำไส้มีความแข็งกว่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้คือยางพารา ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้วัตถุดิบชนิดอื่น ดังนั้น ก่อนการใช้งานจึงต้องทำการนวดแป้นก่อนประมาณ 30- 60 วินาที เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวและแนบสนิทกับผิวหนังหน้าท้องได้ง่าย

ขณะเดียวกัน หน่วยบริการยังสะท้อนประเด็นเรื่องความสะดวกในการใช้งานของผู้ป่วย เพราะนอกจากจะต้องนวดแป้นปิดรอบลำไส้ก่อนใช้งานแล้ว การติดถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้เข้ากับแป้นปิดรอบลำไส้ก็ยังใช้งานยากกว่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพราะผลิตภัณฑ์ของไทยต้องประกบทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกัน 2-3 ครั้งจึงจะแนบสนิท แต่ผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศเพียงประกบคลิกเดียวก็แนบสนิทได้แล้ว ซึ่งในการใช้งานจริงแป้นปิดรอบลำไส้จะติดอยู่กับผิวหนังหน้าท้องของผู้ป่วย จึงยากที่จะประกบถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้ได้ 2-3 ครั้งตามคำแนะนำของทีมพัฒนา 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความติดแน่นของกาวแป้นปิดรอบลำไส้ ซึ่งด้วยคุณสมบัติของยางพาราทำให้แผ่นปิดรอบลำไส้สามารถติดกับผิวหนังได้อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลานาน แต่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานให้ความเห็นว่าควรพัฒนาให้การติดแน่นของแป้นกับผิวหนังค่อยๆลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยสามารถลอกแป้นปิดรอบลำไส้ทุกๆ 7-10 วัน ได้ง่ายขึ้น แต่หากตัวแป้นกับผิวหนังติดแน่นกันอย่างยาวนาน นอกจากจะลอกแป้นยากแล้ว อาจเกิดอันตรายเพราะใช้แรงมากเกินไป หรือผู้ป่วยอาจเห็นว่าแป้นยังติดทนดีอยู่แล้วไม่ยอมเปลี่ยนแป้นใหม่ ทำให้เกิดการสะสมของเสียที่ผิวหนังรอบรูทวารเทียมและอาจเกิดการติดเชื้อได้ เป็นต้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในส่วนของกองทุน Central Reimburse มีรายการที่เกี่ยวกับอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ซึ่งส่วนใหญ่ สปสช. จะจ่ายเป็นเงินให้โรงพยาบาลไปซื้อเอง และแทบทั้งหมดเป็นสินค้าต่างประเทศ ดังนั้นเงินในส่วนนี้ไหลออกไปต่างประเทศหมด ดังนั้น ในสมัยของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สาธารณสุข จึงมีนโยบายให้ สปสช. ผลักดันผลิตภัณฑ์ของไทยที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์ และภาครัฐสามารถจัดซื้อรายการในบัญชีนวัตกรรมไทยได้ไม่น้อยกว่า 30%  ซึ่งในปัจจุบัน สปสช. มีผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ 5 รายการ ซึ่งอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม (Colostomy bag) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและการลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อรับฟังปัญหาจากการใช้งานจริง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ และจากข้อคิดเห็นที่ทั้ง 2 โรงพยาบาลได้สะท้อนมานั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามากเพราะจะเป็นข้อมูลให้ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์นำกลับไปปรับปรุงโดยมีเป้าหมายเดียวคือทำผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด