ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับว่าผ่านพ้นไปเป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิมากถึง 24 ล้านคน ในการเลือกตั้ง “คณะกรรมการประกันสังคม” เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ซึ่งทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) ได้มีโอกาสเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานขับเคลื่อน และดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในกองทุนประกันสังคม

สำหรับชัยชนะของตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตน ที่มีการประกาศรับรองไปในช่วงเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ทีม “ประกันสังคมก้าวหน้า” ที่นำโดยนักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการอย่าง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกันตนทั่วประเทศอย่างท่วมท้นด้วยการยกทีมคว้าที่นั่งไปถึง 6 จากทั้งหมด 7 เก้าอี้ เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายลูกจ้างใน “บอร์ดประกันสังคม”

มาถึงวันนี้ที่กลไกการทำงานต่างๆ เริ่มมีความเป็นรูปเป็นร่าง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ ‘The Coverage’ จะได้ร่วมพูดคุยกับ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ในฐานะกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อรับฟังทิศทางการขับเคลื่อนงานนับจากนี้ ที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

ด้วยเครื่องมือหลักที่ อ.ษัษฐรัมย์ ให้ความสำคัญอย่างกลไก ‘อนุกรรมการ’ ที่ตั้งใจจะเพิ่มความเข้มข้นในการทำงาน หรือการชูประเด็นถึงคุณค่าของ ‘การลงทุน’ เงินในกองทุนขนาดใหญ่นี้ให้มีความมั่นคงบนธรรมาภิบาล ตลอดจนการปรับปรุง ‘สิทธิสวัสดิการ’ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกันตนคงอยู่ในระบบอย่างเต็มใจ

วรรคตอนถัดจากนี้คือวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่หัวเรือใหญ่ในฝ่ายผู้ประกันตน กำลังจะผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ระบบประกันสังคมจากนี้ต่อไป

‘อนุกรรมการ - บอร์ดชุดเล็ก’ แกนหลักยกระดับระบบ

อ.ษัษฐรัมย์ เริ่มด้วยการมองภาพของ ‘บอร์ดประกันสังคม’ ที่มีสัดส่วนผสมระหว่าง 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ซึ่งในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่เข้ามานั่งในบอร์ดชุดใหญ่ เขาก็พร้อมที่จะเป็นกำลังหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน หรือแรงงานไทยในระบบที่มีอยู่กว่า 15 ล้านคน ให้ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งในแง่ของสวัสดิการ สิทธิการรักษาพยาบาล ไปจนถึงการบริหารกองทุนประกันสังคมที่มีเงินสะสมถึงปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ให้ออกดอกผลและมีความมั่นคงต่อแรงงานไทยในระยะยาว

จากการเข้าร่วมประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดใหญ่ไปแล้ว 2 ครั้ง ผู้นำทีมประกันสังคมก้าวหน้า ยืนยันว่าตัวแทนกรรมการในฝ่ายนายจ้างเอง ก็มีมุมมองที่พร้อมจะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนด้วยเช่นกัน หาใช่ภาพของการขูดรีดแรงงานอย่างที่อาจมีใครคิดกัน นั่นเพราะการตัดสินใจใดๆ ในเชิงนโยบาย ย่อมมีผลไปถึงนายจ้างด้วยเช่นกัน

ในขณะที่กรรมการฝ่ายรัฐบาล ก็มีมุมมองที่อยากเห็นประกันสังคมถูกพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เขามองเห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือในการพัฒนาระบบประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

แต่แน่นอนว่าหนทางนี้ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ และอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในการทำงานของบอร์ดประกันสังคมที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี ทำให้ อ.ษัษฐรัมย์ มองว่ากลไกนี้ยังมีความเป็น ‘ราชการ’ อย่างมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การขับเคลื่อนงานต่างๆ ไม่ราบรื่น มีความติดขัด รวมไปถึงตัวของ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ดูแลกองทุนประกันสังคม ทั้งหมดถูกบริหารงานโดย ‘ข้าราชการ’ ที่ไม่เคยใช้สิทธิประกันสังคมเลย ก็ดูจะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ อยู่ไม่น้อย

อ.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า หนทางเพื่อยกระดับการทำงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้พลังจากกลไกของ “คณะอนุกรรมการ” หรือบอร์ดชุดเล็กในประกันสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญจริงในแต่ละประเด็น และมีอำนาจการตัดสินใจได้จริง ภายใต้สัดส่วนที่สมดุลระหว่างทั้ง 3 ฝ่าย เข้ามาร่วมกันพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และนำเสนอข้อมูลที่แม่นยำ เฉียบคม ต่อบอร์ดประกันสังคมชุดใหญ่ ให้ได้พิจารณาในเชิงนโยบายได้อย่างมีคุณภาพตามมา

“ดังนั้นจากนี้ไป เราจะให้ความสำคัญกับอนุกรรมการ ที่เป็นแกนหลักของการยกระดับประกันสังคม โดยบอร์ดชุดใหญ่ก็ต้องไม่สอดไส้วาระใดๆ ที่ต้องการฝ่ายเดียวเข้ามา แต่ต้องรับฟังอนุกรรมการ ที่เป็นคนทำงานจริงๆ มากขึ้น ก่อนตัดสินใจใดๆ ในเชิงนโยบาย” นักวิชาการรายนี้ ระบุ

สำหรับปมสาเหตุที่ อ.ษัษฐรัมย์ ต้องระบุถึงความสำคัญของกลไกบอร์ดชุดเล็กอย่างตรงไปตรงมา เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่าบอร์ดชุดใหญ่มักจะไม่รับฟังข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการ และไม่นำข้อเสนอไปพิจารณาต่อ ทำให้หลายอย่างเกิดปัญหาตามมา โดยหลายข้อเสนอที่จะรับพิจารณา หรือกำหนดเป็นนโยบาย ก็มักจะมาจากฝ่ายข้าราชการ หรือฝ่ายรัฐบาล แต่กระนั้นเขาก็มองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอนุกรรมการบางชุดที่ถูกตั้งขึ้นมาในอดีต ก็อาจไม่มีประสิทธิภาพการทำงานที่มากพอด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าเรื่องเหล่านี้เองอาจเป็นอัตวิสัยของแต่ละบุคคลในบอร์ดประกันสังคม ซึ่งก็อาจไม่ผิดเพราะเคยชินกันมาแบบนั้น หากแต่นับจากนี้แล้ว อ.ษัษฐรัมย์ ย้ำว่าคณะอนุกรรมการในสัดส่วนของผู้ประกันตนที่จะเข้ามาร่วมวงทำงานในบอร์ดชุดเล็กนั้น จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้หวังผลประโยน์ แต่ต้องการขับเคลื่อนและมีอุดมการณ์ความเชื่อเดียวกัน

“โดยเฉพาะความต้องการที่จะมาช่วยยกระดับผู้ประกันตนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้การทำงานนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนจริงๆ มากไปกว่านั้นก็จะต้องมีการสื่อสารกับผู้ประกันตนมากขึ้นเพื่อให้ได้ติดตามการทำงาน ในฐานะที่ได้เข้ามาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้งเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนก็ใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐ และอาจมองว่าไม่ใช่ภาระอะไรที่ต้องไปอธิบายการทำงานกับผู้ประกันตน แต่เราจะไม่เอาแบบนั้นแล้ว” อาจารย์รายนี้ระบุ

อ.ษัษฐรัมย์ เล่าว่า ก่อนการประชุมบอร์ดประกันสังคมครั้งถัดไปในเดือน พ.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ เราน่าจะได้เห็นรายชื่อของคณะอนุกรรมการแต่ละชุดที่คัดเลือกเข้ามาทำงาน รวมถึงรายชื่อบอร์ดชุดใหญ่ที่จะเข้าไปร่วงวงกับอนุกรรมการเพื่อทำงานแต่ละชุดด้วย พร้อมย้ำว่าสัดส่วนของอนุกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายก็จะต้องมีความสมดุลกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคุมประเด็นการทำงานไปมากอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งอาจเกิดความลำเอียงต่อข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำออกมา

“ส่วนผมเองจะเข้าไปทำงานในชุดอนุกรรมการด้านการลงทุน และด้านกฎหมาย ซึ่งผมตั้งใจจะเข้ามาทำด้านนี้โดยเฉพาะ” หัวหน้าทีมประกันสังคมก้าวหน้า ตอกย้ำ

อ.ษัษฐรัมย์ อธิบายเสริมต่อไปว่า คณะอนุกรรมการในบอร์ดประกันสังคม จะมีทั้งหมด 14 ชุด แบ่งย่อยออกมาเป็นอนุกรรมการระดับจังหวัด พื้นที่ และรายประเด็น ซึ่งแต่ละชุดจะมีรูปแบบการทำงานที่ยืดยุ่นมากขึ้น หากประเด็นใดที่ไม่ต้องเป็นอนุกรรมการสามัญ ก็สามารถตั้งขึ้นเป็นรายประเด็นได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด

‘ดอกผล’ จากเงินลงทุนต้องมีความมั่นคง บนธรรมาภิบาล 

อย่างที่ทราบกันดีว่าเงินในกองทุนประกันสังคม เกิดจากการสมทบกันระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 รวมกับผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ที่ส่งเงินสมทบรายเดือนเพื่อเป็นสวัสดิการในระยะยาวให้กับตัวเอง

ด้วยจำนวนเงินมหาศาลกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล สิทธิสวัสดิการต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายของสำนักงานประกันสังคมที่ตกปีละกว่า 1 แสนล้านบาท จึงมีเงินที่กองเอาไว้อยู่ราว 1 แสนล้านบาท ที่ต้องนำไปลงทุนเพื่อต่อยอดให้กองทุนขนาดใหญ่นี้ออกดอกผล และสามารถดูแลผู้ประกันตนได้อย่างมั่นคง

อ.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ในประเด็นของการลงทุนนี้จะมีคณะอนุกรรมการที่เข้ามาดูอยู่ด้วยกัน 3 ชุด คือ 1. อนุกรรมการบริหารการลงทุน 2. อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และ 3. อนุกรรมการการลงทุนนอกตลาดหุ้น ซึ่งทั้งหมดจะอยู่บนมาตรการ (Protocol) ที่ชัดเจน เพื่อเสนอต่อบอร์ดชุดใหญ่ให้พิจารณาตามแนวทาง

เช่นว่า เมื่อเกิดความเสี่ยงจากการลงทุนแล้วจะมีแนวทางจัดการอย่างไร เพื่อตอบคำถามผู้ประกันตนได้ว่า เมื่อลงทุนไปแล้วแต่ขาดทุน เหตุใดจึงต้องถือเอาไว้นาน เช่นเดียวกับการลงทุนในบริษัทหรือองค์กรที่มีธรรมาภิบาล โดยไม่สนับสนุนหรือลงทุนกับบริษัทที่มีแนวคิดไม่เป็นธรรม ตามแนวทางของประกันสังคม

“ผมเห็นกองทุนประกันสังคมของนอร์เวย์ เขาประกาศขึ้นลิสต์ว่าจะไม่ลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง แอร์บัส เพราะไปสนับสนุนการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งขัดกับหลักการของนอร์เวย์ และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกองทุน” อ.ษัษฐรัมย์ ให้ตัวอย่าง พร้อมเสริมว่าในหลักการบริหารความเสี่ยงทั่วไป จะมีตั้งแต่การถอนหุ้น ออกหนังสือเตือน หรือขอแผนในการปรับปรุงการลงทุน ซึ่งจากนี้ทุกอย่างจะถูกนำเสนอและสื่อสารต่อผู้ประกันตนโดยตลอด และจะไม่มีการลงทุนที่เกิดความเสี่ยง หรือเกิดกรณีที่ว่าเมื่อมีปัญหาแล้วผู้ประกันตนจึงค่อยทราบเรื่อง เป็นต้น

ส่วนในประเด็นล่าสุดอย่างกรณีที่พบว่าสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุนรวมแห่งหนึ่งที่กำลังมีความเสี่ยงว่ามูลค่าจะเหลือศูนย์นั้น อ.ษัษฐรัมย์ ให้ความเห็นว่า การลงทุนย่อมมีผลกำไร และขาดทุนเป็นเรื่องปกติ แต่ความไม่ปกติของการลงทุนที่เกิดขึ้นคือ ‘ความไม่โปร่งใส’ และ ‘ความไม่ชัดเจน’ ของการลงทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทบชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงิน

“ผมมองว่าการลงทุนที่ผ่านมา จะเห็นว่าไม่มีเงื่อนไขหรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนที่ชัดเจนจากบอร์ดประกันสังคม แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่อย่างน้อยเราก็ต้องมีกฎระเบียบ มีกติกาของเราในการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ซึ่งควรต้องลงทุนกับองค์กรที่มีธรรมาภิบาล เพราะเราต้องเอาชื่อเสียง และความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม ที่มีเจ้าของคือผู้ประกันตนไปลงทุน ดังนั้นมันต้องมีทั้งความมั่นคง และตอบคำถามกับผู้ประกันตนได้” อาจารย์ด้านรัฐสวัสดิการรายนี้ให้มุมมอง

อ.ษัษฐรัมย์ ยังให้ภาพถึงความสำคัญของการลงทุนจากเงินในกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ และมีจำนวนเงินมหาศาลถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับงบประมาณของบางประเทศที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ ดังนั้นการบริหารกองทุนประกันสังคม ก็อาจคล้ายกับการบริหารประเทศเช่นกัน ทำให้ผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาทั้งในด้านการลงทุน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน หรือประชาชนนั่นเอง

อย่ากังวล ‘กองทุนประกันสังคม’ ไม่ล่มสลาย ภายใต้แนวทางใหม่  

เป็นที่ห่วงกังวลกันว่า ด้วยสถานการณ์ของประชากรที่เกิดน้อย ย่อมส่งผลให้จำนวนแรงงานลดน้อยลงไปตาม และจะกระทบต่อเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมที่จะน้อยลงไปด้วย ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงแรงงานในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งทั้งหมดก็ต้องอาศัยเงินจากกองทุนประกันสังคมในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงกลายเป็นคำถามต่อ ‘สถานะ’ ของกองทุนประกันสังคมที่จะ ‘สั่นคลอน’ ไปหรือไม่ จากเดิมที่มีเงินเข้าอยู่ปีละ 2 แสนล้านบาท กับเงินออกอีก 1 แสนล้านบาท แต่ในอนาคตสัดส่วนนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

อ.ษัษฐรัมย์ ประเมินว่าสถานการณ์อาจ ‘ไม่ย่ำแย่’ ขนาดนั้น แต่ยังมีหนทางและวิธีการที่เราสามารถปรับปรุงกันได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้กองทุนประกันสังคมเกิดความสั่นคลอน อีกทั้งยังมีวิธีการมากกว่าเพียงแค่การ ‘ขยายเพดานส่งเงินสมทบ’ หรือ ‘ขยายอายุการเกษียณ’ ออกเพื่อให้แรงงานส่งเงินสมทบเข้ากองทุนต่อไป ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นทางเลือกที่รอได้ และยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำในขณะนี้

หากแต่แนวคิดที่เขามองต่อจากนี้ คือทางเลือกในการทำให้เงินกองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงด้วย “ระบบทวีคูณความเสมอภาค” ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ประกันตนเพศหญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร มีการเบิกค่าใช้จ่ายจากสิทธิประกันสังคมออกไป แต่ด้วยระบบสวัสดิการที่ไม่เอื้อให้ผู้ประกันตนสามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างดีพอ ทำให้ผู้ประกันตนหญิงต้องตัดสินใจลาออกจากงาน และหลุดจากระบบประกันสังคมออกไปเพื่อเลี้ยงดูลูก ซึ่งก็ทำให้กองทุนเสียโอกาสที่จะได้รับเงินสมทบระยะยาวจากผู้ประกันตนและนายจ้างไปด้วย 

ดังนั้นหากเราปรับระบบเพื่อให้ผู้ประกันตนที่คลอดบุตรยังคงอยู่ในระบบต่อไปได้ โดยมีสวัสดิการที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรที่ดีกว่าในปัจจุบัน ก็จะไม่ทำให้กองทุนไม่ต้องเสียผู้ประกันตนออกไปจากระบบด้วย

“เราจะได้เงินจากเขาไปอีก 30 ปี ดีกว่าที่เขาใช้สิทธิลาไปแล้ว กลับมาทำงานไม่ได้ เพราะวันลาก็น้อย ผู้ประกันตนก็ต้องตัดสินใจอยู่เลี้ยงดูลูก ทำให้ขาดจากงาน และออกจากระบบไป กองทุนก็จะเสียโอกาสที่จะได้เงินสมทบจากแรงงาน อย่างทุกวันนี้มีผู้ประกันตนลาคลอดบุตรไปประมาณ 1 แสนคน แต่ละคนที่หลุดจากระบบก็หายไปพร้อมกับเงิน 1.8 หมื่นบาทต่อปี รวมแล้วปีหนึ่งก็เป็นจำนวนเงินไม่น้อย แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมามองเรื่องนี้จริงจังและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” อ.ษัษฐรัมย์ เผยแนวคิด

เขายังเผยให้เห็นอีกแนวทางในการสมทบเงินกองทุนประกันสังคม คือรูปแบบการจัดเก็บภาษีแบบ “Pay Roll Tax” กับกลุ่มนายจ้าง ผู้ประกอบการที่จ้างงานแรงงานอิสระ หรือกลุ่มฟรีแลนซ์ ที่จะต้องมองว่ากลุ่มแรงงานเป็นทรัพยากรของประเทศ ดังนั้นเมื่อเกิดการจ้างงานก็เท่ากับการใช้ทรัพยากรของประเทศ ซึ่งนายจ้างที่จ้างงาน หรือจ้างผลิตชิ้นงาน ก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นเงินสำหรับดูแลกลุ่มแรงงานอิสระในอนาคต โดยระบบนี้ก็จะเหมือนกับที่มีในหลายประเทศ ซึ่งจะมีการนำมาพิจารณาปรับใช้ผ่านการร่างกฎหมายในประเทศ

‘สิทธิรักษาพยาบาล’ สวัสดิการที่ต้องครอบคลุม 

อีกหนึ่งปัจจัยหลักของการเป็นผู้ประกันตนคือ ‘สิทธิการรักษาพยาบาล’ ซึ่ง อ.ษัษฐรัมย์ ก็มองว่าประเด็นนี้เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาขึ้นแบบจับต้องได้ ผ่านการขับเคลื่อนของบอร์ดประกันสังคม โดยเน้นย้ำว่าระบบประกันสังคมจะต้องมีศักยภาพ ดูแลการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง’ ทางกองทุนฯ จะต้องทำให้เกิดครอบคลุม โดยที่ผู้ประกันตนไม่จำเป็นต้องไปซื้อประกันสุขภาพจากเอกชนเพิ่มเติมเพื่อ ‘On Top’ การรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมด้วยเช่นกัน รวมถึงการเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลในกลุ่ม ‘โรคร้ายแรง’ ที่ไม่ต้องให้ผู้ประกันตนสำรองจ่ายไปก่อน โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าและทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลไปแล้วกว่า 100 แห่ง

“พร้อมกันนี้ยังจะต้องมุ่งหารือ พร้อมแสวงหาความร่วมมือกับกองทุนสุขภาพอื่นๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตน ซึ่งก็มีที่เริ่มแล้ว เช่น การตรวจสุขภาพ ที่มีการเสริมสิทธิประโยชน์ระหว่างกัน รวมถึงการตรวจมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มแรงงาน ที่ สปสช. ก็เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เพราะต้องดูแลในด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน” อ.ษัษฐรัมย์ ให้แนวคิดทิ้งท้าย