ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เผย หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่กรณีผู้ป่วยโควิด หากทำระบบดี ไม่มีอะไรน่ากังวล แม้อัตราการเบิกจ่ายต่อหน่วยลดลง ย้ำมีความพร้อมรองรับผู้ป่วยได้เหมือนเดิม


นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อกังวลใดเป็นพิเศษหลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มต้นใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงอัตราเบิกจ่ายค่าบริการ สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ในวันที่ 16 มี.ค. 2565 โดยยืนยันว่า โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมและสามารถรองรับผู้ป่วยได้เหมือนก่อนหน้านี้ แม้ว่าอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการต่อคนจะลดลง แต่ปริมาณผู้ติดเชื้อนั้นเพิ่มขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึงสองเท่า

นพ.เฉลิม กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้อัตราเบิกจ่ายใหม่ในวันที่ 16 มี.ค. 2565 เดิมโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องได้รับการรักษา โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ซึ่งมีประมาณ 80% หรือ 2-3 หมื่นรายมาโดยตลอด ดังนั้นความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยหลังจากเปลี่ยนหลักเกณฑ์เบิกจ่ายจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เพราะเป็นเพียงการเพิ่มการดูแลรักษาให้กับผู้ป่วยสีเขียวที่เป็นการแยกกักตัวแบบผู้ป่วยนอกเท่านั้น

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเป็นไปตามอัตราการเบิกจ่ายที่กำหนดไว้ เช่น ระบบการรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation และ Hotel Isolation 7 วันขึ้นไป จะอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาท

“ตามความเข้าใจแม้อัตราเบิกจ่ายต่อหน่วยจะลดลง แต่ปริมาณผู้ติดเชื้ออาจมีสูงขึ้นกว่าเดิมมาก หากหน่วยงานที่เป็น Regulator ทำระบบชัดเจน คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรให้กังวล เราเข้าใจว่าเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนนี้ใช้ค่อนข้างเยอะ ถ้าหากช่วยอะไรได้เราก็อยากช่วยให้กลไกไปได้อย่างเรียบร้อย” นพ.เฉลิม กล่าว

นพ.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวคาดว่าจะมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อโดยรวมกำลังเพิ่มขึ้น หากนำเอาข้อมูลรายงานผู้ติดเชื้อในวันนี้ (17 มี.ค. 2565) คือ 2.5 หมื่นคน ถ้ารวมผลตรวจจาก Antigen-Test Kit (ATK) เข้าไปด้วยจะอยู่ที่ 4-5 หมื่นคน อีกทั้งนักวิชาการด้านระบาดวิทยาประเมินว่าอาจสูงกว่านี้ 3-4 เท่า แต่ทางภาคเอกชนประเมินแล้วไม่เกินขีดความสามารถ รองรับได้แน่นอน ด้วยเชื้อโอมิครอนที่ไม่ได้ส่งผลร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยสีเขียวสามารถกักตัวที่บ้านได้