ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ เตียงโรงพยาบาลรัฐใน กทม. ยังมีเหลืออีก ขณะที่ CI ก็ยังว่าง พร้อมเดินหน้านโยบาย UCEP Plus ให้ผู้ป่วยสีเหลืองรักษาที่ รพ.เอกชน ได้


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์เตียงโรงพยาบาลรัฐโดยภาพรวมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะนี้ มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 4,000 เตียง จากทั้งหมด 7,000 เตียง จึงถือว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 อยู่ แต่ก็มีบางโรงพยาบาลที่สถานการณ์เตียงค่อนข้างตึง เช่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะมีเตียงเหลือเพียงพอสำหรับรับมือ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในรอบที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันจำนวนเตียงโดยภาพรวมลดลง เนื่องจากก่อนหน้านี้แต่ละโรงพยาบาลจะแบ่งสัดส่วนเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ไว้มากกว่าดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงก็มีการปรับสัดส่วนเตียงใหม่ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็ได้มีการพูดคุยและเตรียมการกันในเครือข่ายของ กทม. ว่าอาจจะต้องขอสลับเตียงกลับมารองรับผู้ป่วยโควิด 19 แต่ที่สุดแล้วก็ต้องดูแนวโน้มและสถานการณ์ก่อน เพราะหากมีการเตรียมเตียงเผื่อไว้ให้ผู้ป่วยโควิดเป็นจำนวนมาก ก็อาจะทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นเสียโอกาสในการรักษา

“ที่ผ่านมา บางโรงพยาบาลมีเตียง 200 เตียง ก็อาจจะแบ่งให้ผู้ป่วยโควิด 150 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดและอีก 50 เตียงเอาไว้รองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายในช่วงปลายปี ประกอบกับเชื้อโอมิครอน และไทยได้ใช้นวทางการทำ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เป็นหลักในกลุ่มผู้ป่วยสีเชียว ทำให้โรงพยาบาลมีการสลับเอาเตียงไปรับผู้ป่วยโรคอื่น เช่น สำหรับโควิด 50 เตียง และโรคอื่น 150 เตียง” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในขณะนี้ยังมีการได้พูดคุยกันภายในว่าจะเตรียมนโยบาย UCEP Plus คือจะให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ฉะนั้นจากนี้ก็จะมีเตียงจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาช่วยรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวก็ได้มีการจัดแนวทาง HI  ที่ดูแลโดยโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางรายขอไปหาเตียงเอง ซึ่งโดยหลักการก็เน้นว่าอยากให้รักษาด้วยระบบ HI หรือ CI ก่อน ซึ่งขณะนี้จำนวนเตียงใน CI ของ กทม. มีอัตราครองเตียงประมาณ 1,700 เตียง และยังว่างอยู่ประมาณ 1,700 เตียง