ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.อว.เปิดเผยความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเต็มที่ สั่งการเตรียม รพ.สนาม ของมหาวิทยาลัยในสังกัดรองรับไว้ทั่วประเทศแล้วกว่า 47 แห่ง รวม 1.3 หมื่นเตียง


เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ทำให้มีความกังวลในเรื่องความพร้อมของจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยในส่วน อว. ยืนยันว่าได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในสังกัด ให้พร้อมที่จะรับผู้ป่วยหนัก และเตรียมโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 47 แห่ง ใน 39 จังหวัดไว้แล้ว หากมีความจำเป็นจะต้องเปิดใช้

ขณะที่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2564 มหาวิทยาลัยในสังกัด อว. ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเปิดโรงพยาบาลสนามในทุกภุมิภาค ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และสามารถดูแลผู้ติดเชื้อในหลายระลอกที่ผ่านมารวมกันแล้วมากกว่า 100,000 คน จนผู้ติดเชื้อจำนวนลดลง ทางโรงพยาบาลสนามจึงได้พักการดำเนินงานชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีความกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดเพิ่มได้อีก ทาง อว.จึงได้สั่งการเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งร่วมมือกับทางจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเต็มที่ พร้อมกลับมาเปิดรับผู้ป่วยได้หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือปรับรูปแบบเป็นดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation)

"จากการติดตามสถานการณ์ในช่วงนี้ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและน่าจะสามารถดูแลที่บ้านหรือในชุมชนได้ แต่ทั้งนี้ก็ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับด้วย ซึ่งรวมเป็นจำนวนเตียงกว่า 13,416 เตียง" ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสนาม อว. เคยรับผู้ป่วยสูงสุดในเวลาเดียวกันกว่าหมื่นราย ซึ่งปัจจุบันเหลือรักษาตัวอยู่เพียงหลักพันราย จึงมีกำลังพอจะรองรับได้เพิ่มอีก และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังหนักหน่วง อว.ยังสามารถขยายเตียงในโรงพยาบาลสนามเพิ่มได้อีก 15,000 เตียง จึงขอย้ำว่า อว.พร้อมเป็นกองหนุนอย่างเต็มที่ และไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเตียง

สำหรับ รพ.สนาม สังกัด อว. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล 8 แห่ง ประกอบด้วย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นนทบุรี, มทร.ธัญบุรี, มรภ.ธนบุรี ศูนย์สมุทรปราการ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) (CI), ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน (CI), ม.รามคำแหง (CI) และ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (CI)

ภาคกลาง 6 แห่ง ได้แก่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก, มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา, มรภ.เทพสตรี, มรภ.พระนครศรีอยุธยา, มทร.รัตนโกสินทร์ ว.วังไกลกังวล และ มทร.สุวรรณภูมิ สุพรรณบุรี ภาคเหนือ 13 แห่ง ได้แก่ ม.พะเยา, ม.แม่โจ้ เชียงใหม่, ม.แม่โจ้ แพร่, ม.แม่ฟ้าหลวง, มรภ.กำแพงเพชร, มทร.ล้านนา ตาก, มรภ.อุตรดิตถ์, มรภ.นครสวรรค์, มรภ.เพชรบูรณ์, มทร.ล้านนา เชียงใหม่, มรภ.พิบูลสงคราม พิษณุโลก (CI), ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ (CI) และ ม.แม่ฟ้าหลวง (CI)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 แห่ง ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร, ม.ขอนแก่น, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.มหาสารคาม, ม.มหิดล อำนาจเจริญ, มรภ.บุรีรัมย์, มรภ.อุดรธานี สามพร้าว, มรภ.อุบลราชธานี, วิทยาลัยชุมชนยโสธร และ มทร.อีสาน ขอนแก่น (CI)

ภาคใต้ 10 แห่ง ได้แก่ ม.ทักษิณ พัทลุง, ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี, ม.สงขลานครินทร์ ภูเก็ต, ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่, ม.สงขลานครินทร์ ตรัง, มรภ.ยะลา, มรภ.สุราษฏร์ธานี, มรภ.ภูเก็ต, ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ (CI) และ ม.แม่โจ้ ชุมพร (CI) ภาคตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ มรภ.ราชนครินทร์, มรภ.รำไพพรรณี และ มทร.ธัญบุรี ปราจีนบุรี