ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อพูดถึงบทบาทไทยในเวทีโลก "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง สร้างความโดดเด่นให้กับประเทศไทยอย่างก้าวกระโดดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เวทีการประชุมระดับสากลที่สำคัญทั้งการประชุมสหประชาชาติ สมัชชาอนามัยโลก รวมถึงการประชุมระดับภูมิภาค ผู้นำของไทยได้รับเกียรติขึ้นกล่าวถ้อยแถลงจากความสำเร็จนี้ สะท้อนถึงการยอมรับแนวทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากองค์กรระดับสากลและนานาประเทศทั่วโลก ยกให้ไทยเป็นต้นแบบการพัฒนา มุ่งให้ทุกประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับเพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชากรในประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2573 โดยสหประชาชาติได้ลงมติประกาศให้ทุกวันที่ 12 ธันวาคม เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
          
ความสำเร็จนี้คงเป็นไปได้ยาก หากขาดแรงผลักดันและทำงานอย่างเข้มแข็งของ "คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" (บอร์ด สปสช.) ที่ประกอบด้วยตัวแทนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมัยวาระที่ 4 (9 ก.พ.2559 - 8 ก.พ.2563) ได้ดำเนินการต่อยอดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจนเกิดผลแห่งความสำเร็จยิ่งขึ้น
          
ย้อนกลับไปช่วง 4 ปีแห่งความสำเร็จ แม้ว่าจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2560 แต่ในฐานะผู้บริหาร สปสช.ได้เห็นการดำเนินงานบอร์ด สปสช.ชุดนี้มาตลอด จากความมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างเต็มที่ของกรรมการทุกคน ทำให้รัฐบาลเพิ่มเติมงบประมาณสู่ "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" อย่างต่อเนื่อง จาก 1.53 แสนล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เม็ดเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้นำมาปรับปรุงระบบ ขยายและพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งการรักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
          
สิทธิประโยชน์สำคัญที่เพิ่มเติมโดยการบริหารของบอร์ด สปสช.ชุดนี้ ได้แก่
1.สนับสนุนนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" (EMCO) โดยปรับอัตราจ่ายบริการ EMCO เป็น Fee Schedule ก่อนที่ต่อมาในปี 2560 ได้ปรับปรุงเป็นนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" หรือ UCEP ซึ่งในปี 2560 นี้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางจัดการเรื่องธุรกรรมการเบิกจ่ายและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งมีหน้าที่ในการสำรองจ่ายค่าบริการแทนหน่วยงานนอกเครือข่ายสิทธิการรักษาอีกด้วย
2.คุ้มครองการเข้าถึงยาจำเป็นด้วยการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่สำคัญ ในการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางระบบบริหารจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอวัยวะเทียม พร้อมพัฒนาระบบบริการบำบัดทดแทนไต เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
3.นอกจากนี้ได้ขยายสิทธิประโยชน์สำคัญเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและประชาชน อาทิ เพิ่มบริการยาบัญชี จ.(2) และวัคซีน อาทิ ยา Raltegravir ป้องกันถ่ายทอด HIV แม่สู่ลูก ยา Bevacizumab รักษาโรคหลอดเลือดในตาอุดตัน ยา Leuprorelin 11.25 mg inj ยา Triptorelin 11.25 mg inj. รักษาโรคหนุ่มสาวก่อนวัย และวัคซีนรวม 5 ชนิด คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อ Haemophilus influenzae type B: Hib (DTP-HB-Hib) รวมถึงการตรวจยีนในผู้ป่วยลมชักเพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง

โดยผลงานเด่นจากการบริหารปีงบประมาณ 2562 นอกจากสนับสนุนบริการผ่าตัดวันเดียวกลับตามการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและลดความแออัดในโรงพยาบาลแล้ว ยังเพิ่มเติมบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก 8 รายการ บริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสำหรับกลุ่ม Allogenic กรณีผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ บริการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ จัดหายากำพร้าและยาต้านพิษที่หายากหรือขาดแคลน พร้อมสำรองคลังยาต้านพิษของประเทศไทย นำร่องบริการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัส (PrEP) และปรับปรุงรายการบริการผู้ป่วยวัณโรคตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ.2561 บริการตรวจ HPV DNA test เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (CA Cervix) เป็นบริการทดแทนการตรวจคัดกรองแบบดั้งเดิม (Pap smear) และการดูแลผู้ป่วยโรคหายากในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของสารโมเลกุลเล็ก Disorders of small molecules 24 โรค
          
นอกจากสิทธิประโยชน์แล้ว บอร์ด สปสช.มุ่งจัดบริการเชิงรุกเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน โดยดึงร้านขายยาแผนปัจจุบันเป็นหน่วยบริการร่วม คัดกรองพฤติกรรมเสี่ยง ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา คำแนะนำการดูแลสุขภาพ และเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รวมถึงสนับสนุนโครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เพิ่ม "ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป" กำหนดเป็น "สถานบริการสาธารณสุขอื่น" ตามคณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้พิการ รวมถึงการกำหนดสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาราชการที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ ช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพเข้าถึงบริการ

ขณะที่งานคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่บอร์ด สปสช.ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 4 ปี ได้ทำการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน 19 กรณี และให้ยกเว้นค่าบริการสายด่วน สปสช.1330 เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนในการติดต่อ จัดทำข้อเสนอดูแลคนไทยตกหล่นเข้าถึงสิทธิสุขภาพ และเห็นชอบพ่อแม่พนักงานธนาคารออมสินใช้สิทธิบัตรทอง

อีกหนึ่งผลงานเด่น ด้วยบอร์ด สปสช.เล็งเห็นศักยภาพท้องถิ่นที่เป็นรากฐานการดูแลสุขภาพประชาชน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการขับเคลื่อน "กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่" (กองทุนสุขภาพตำบล) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ นอกจากแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำให้โครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ อปท.กว่า 7 พันแห่งทั่วประเทศเดินหน้าได้แล้ว ยังขยายความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการดำเนินการ "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด" และในปี 2559 ได้เริ่มต้น "กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง" (Long term care: LTC) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย    

ผลงานที่ปรากฏเหล่านี้ มาจากความตั้งใจทำหน้าของบอร์ด สปสช.เพื่อดูแลประชาชน ส่งผลให้ความพึงพอใจของประชาชนต่อกองทุนบัตรทองมีคะแนนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2562 ประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องให้คะแนนความพึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุด (7-10 คะแนน) ร้อยละ 97.11, 75.99, และ 93.21 ตามลำดับ นับเป็นตัวชี้วัดถึงการบริหารกองทุนบัตรทองได้ดี

สปสช.ขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ร่วมทำหน้าที่บอร์ด สปสช.สมัยวาระที่ 4 ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก้าวเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิที่ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่โดดเด่นในเวทีโลกและช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

 

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563  ผลงานเด่นฝีมือบริหาร"บอร์ด สปสช.สมัยที่4"ส่ง"กองทุนบัตรทอง"โดดเด่นเวทีโลก