ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี สปสช. ดูแลสุขภาพคนไทยกว่า 47 ล้านคนในปีงบฯ 65 สะท้อนการพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษา-บริการสาธารณสุข อย่างครอบคลุมทั่วถึง


เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลรับทราบการรายงาน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) แต่ละปี สปสช. ได้จัดทำ “รายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อรายงานผลงานตามนโยบายและงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา จากงบประมาณที่ สปสช. ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล จำนวน 198,891.79 ล้านบาท (รวมเงินเดือนผู้ให้บริการ) สามารถดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์

นายอนุชา กล่าวว่า รายงาน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565” มีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 47.46 ล้านคน สร้างความครอบคลุมผู้มีสิทธิบัตรทอง เข้าถึงบริการ 99.4% โดยในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัว 3,329.22 บาทต่อประชากรสิทธิบัตรทอง สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการตามรายการต่างๆ เช่น ผู้ป่วยนอกรับบริการ 167.37 ล้านครั้ง (3.53 ครั้ง/คน/ปี) ผู้ป่วยในรับบริการ 6.20 ล้านครั้ง (0.13 ครั้ง/คน/ปี) ขณะที่มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการกรณีเฉพาะ หัตถการค่าใช้จ่ายสูง ยาบัญชี จ.(2) และบริการที่จำเป็นต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังได้ชื่นชมกับภาพรวมการดำเนินการต่างๆ ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2565 ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการต่างๆ ทำให้คนไทยผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นไปตามที่ สปสช. ตั้งเป้าหมายไว้

"ในปี 2565 ยังเป็นปีที่รัฐบาลโดย สปสช. ได้เริ่มสิทธิประโยชน์และบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ เพิ่มยาในรายการบัญชียา จ.(2) การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และการยกระดับสายด่วน สปสช. 1330 สู่ Contact Center เป็นต้น รวมถึงการยกระดับบัตรทองเพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทย" นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ผลงานการดำเนินงานของ สปสช. ในปี 2565 ได้สะท้อนการพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งการจัดสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อเนื่อง ขยายการบริการ รุกการบริหารจัดการ เพื่อดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของนายกรัฐมนตรี ที่เน้นดูแลให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ

ทั้งนี้ สปสช. ได้ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์เลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ทุกคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เปิดให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตกับแพทย์

ในส่วนของภาพรวมปี 2565 บัตรทองดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ 62,478 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 18,478 คน ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 1,234 คน และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 40,086 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฟอกตามนโยบายใหม่นี้ 17,000 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไต 146 คน และผู้ป่วยรับยากดภูมิหลังปลูกถ่ายไต 2,534 คน 

ขณะที่สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงติดเตียง ผู้มีปัญหากลั้นขับถ่าย บอร์ด สปสช. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 เพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียง ที่มีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) และผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 3 ชิ้น/คน/วัน หรือแผ่นรองซับการขับถ่ายไม่เกิน 3 ชิ้น/คน/วัน โดยดำเนินการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด