ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมรับฟังความเห็นบัตรทอง เสนอ สปสช.จัดตั้งหน่วยงาน “ระดับจังหวัด” หนุนเสริมการเข้าถึงบริการ เห็นพ้องคงสิทธิประโยชน์ย้ายโรงพยาบาลปีละ 4 ครั้ง ไว้เช่นเดิม

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2559 ตามมาตรา 18 (13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยห้องย่อยที่ 2 ได้หารือในประเด็นการบริหารจัดการสำนักงาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายถึงความจำเป็นในการจัดตั้งสำนักงาน สปสช.สาขาจังหวัด โดยเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม

สำหรับรูปแบบการดำเนินการ ที่ประชุมมีข้อเสนอใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.เสนอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เช่นเดิม แต่ให้กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบใหม่ รวมถึงพิจารณากฎระเบียบต่างๆ เพื่อความสอดคล้องของการทำงาน ซึ่งจะถือว่าทั้ง สปสช.และ สสจ.เข้าข่าย วิน-วิน คือได้งานตรงตามต้องการ

2.เสนอให้มีหน่วยงานอื่นเข้ามาทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัดแทน ข้อดีคือจะทำงานเป็นอิสระ ซึ่งแตกต่างกับ สสจ.ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแลบริการ อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน

3.เสนอให้ สปสช.กำหนดนโยบายการทำงานระดับจังหวัดให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงบทบาทของตัวเอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นการพัฒนาโปรแกรมและระบบรายงาน เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีระบบให้หน่วยบริการรายงาน ปัญหาคือหน่วยบริการเกิดภาระและอาจต้องสูญเสียบุคลากรไปสำหรับจัดการข้อมูลในส่วนนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบรายงานให้สอดคล้องกันเพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่

สำหรับประเด็นการลงทะเบียนสิทธิซึ่งเดิมเปิดให้ประชาชนสามารถย้ายสิทธิได้ปีละ 4 ครั้ง ที่ประชุมได้หารือกันอย่างหลากหลายและมีข้อเสนอ อาทิ ลดเหลือเพียงปีละ 2 ครั้ง หรือเพิ่มโดยไม่จำกัดจำนวน อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยังเห็นควรให้ย้ายสิทธิได้ปีละ 4 ครั้งเช่นเดิม แต่ให้กลับไปพิจารณาสถิติการย้ายสิทธิในแต่ละปีว่ามีผู้ย้ายเกิน 4 ครั้ง จำนวนเท่าใด มีนัยยะสำคัญอะไรหรือไม่ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

ในส่วนของประเด็นการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่ประชุมยังไม่ได้ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ต้องการความชัดเจนในนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คือหากต้องการเก็บ 30 บาท ก็ควรเก็บเหมือนกันทุกคนไม่มีข้อยกเว้น หากไม่ต้องการเก็บก็ไม่ควรเก็บเลย ซึ่งจะไม่เป็นภาระต่อการจัดทำระบบด้วย ขณะที่ประเด็นการรับฟังความคิดเห็น มีข้อเสนอว่าให้มีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง และควรให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย

ที่มา: คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ