ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

(ร่าง) รายงานผลการสำรวจสถานการณ์คนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี (นำร่อง) ปี 2566-2567 ภายใต้โครงการการพัฒนากลไกเพื่อจัดบริการที่เป็นมิตรแก่เด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ได้รับการนำเสนอโดย รศ.ดร.บุญเสริม หุตะแพทย์ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567

สาระสำคัญของรายงาน ระบุว่า ผลการสำรวจ คนพิการส่วนใหญ่ หรือจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยพิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย และมีคนพิการจำนวนหนึ่งที่พิการซ้ำซ้อน คนพิการจำนวนมากที่สุดเป็นโสด เกือบทั้งหมดมีลูกหลาน และเป็นมารดา/บิดาของคนพิการ คอยดูแล โดยยังมีคนในชุมชนที่ช่วยเหลือคนพิการ ได้แก่ อสม./อพมก./อสส. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ  โดยคนพิการเกือบทั้งหมดไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุดมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีหนี้สิน คนพิการส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำงานและเงินสวัสดิการจากเบี้ยคนพิการ ทั้งนี้ คนพิการเกือบทั้งหมดมีบัตรคนพิการ และมีจำนวนหนึ่งยังอยู่ระหว่างการขอทำบัตรประจำตัวคนพิการต่อไป 

รศ.ดร.บุญเสริม ระบุว่า  คนพิการเกือบทั้งหมดรู้สึกว่าตนเองมีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ขณะที่คนพิการอีกจำนวนหนึ่งคิดว่าพื้นที่ในบ้านที่คนพิการอาศัยอยู่กับคนในครอบครัว และบ้านญาติของคนพิการไม่ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในชุมชนมีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังเห็นว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง มากที่สุดเป็นพื้นที่นอกบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนพิการไปใช้บริการ 

ทั้งนี้ ความเข้าใจและประสบการณ์ความรุนแรงของคนพิการในภาพรวม คนพิการที่เป็น
กลุ่มตัวอย่างราว 1 ใน 3 มีความเข้าใจลักษณะของความรุนแรงฯ ได้อย่างถูกต้อง โดยคนพิการจำนวนมากที่สุด มีความเข้าใจลักษณะของความรุนแรงในการคุกคามผ่านสื่อโซเชียล แต่ยังมีคนพิการจำนวนน้อยที่สุดเข้าใจความรุนแรง ในลักษณะของการละเลยหรือไม่สนับสนุน และการละเมิดทางการเงินและทรัพย์สิน 

รศ.ดร.บุญเสริม ชี้ด้วยว่า คนพิการเกือบทั้งหมดระบุว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีประสบการณ์การถูกกระทำรุนแรงในทุกลักษณะ โดยมีคนพิการเพียงราว 1 ใน 6 (หรือร้อยละ 17.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) เท่านั้น ที่ระบุว่าถูกกระทำรุนแรงลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อย่างน้อย 1 ลักษณะ และในจำนวนนี้มีคนพิการคนหนึ่งที่ถูกกระทำรุนแรงมากที่สุดถึง 7 ลักษณะ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนพิการจำนวนมากที่สุดถูกกระทำรุนแรงในลักษณะของการบ่น ด่า แสดงความรังเกียจ สาปแช่ง และมีคนพิการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกกระทำรุนแรงจากการที่คนในครอบครัวไม่จัดอาหารให้ หรือจัดอาหารไม่เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ 

ทั้งนี้ มีคนพิการในจำนวนที่เท่ากันที่ถูกคนในครอบครัวกระทำรุนแรงใน 4 ลักษณะคือ 1. ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เช่น ตบ เตะ ต่อย หยิก ตี จับกดน้ำ ฯลฯ 2. ไม่แสดงความรัก ความห่วงใย เมินเฉย ปล่อยปละ ละเลย 3. ทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือปล่อยให้อยู่กับคนอื่นเมื่อเจ็บป่วย และ 4. ไม่พาไปหาหมอ ไม่รักษา 

นอกจากนี้ มีคนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงทางวาจาหรืออารมณ์/จิตใจ มากที่สุดถึง 8 ลักษณะ ขณะที่มีคนพิการระบุว่าถูกกระทำความรุนแรงด้านเพศ น้อยที่สุด (จำนวน 2 ราย) ใน 1 ลักษณะ คือ ถูกคนรู้จัก/เพื่อน/ครู ซึ่งเป็นคนอยู่นอกครอบครัว สัมผัส ลูบคลำเนื้อตัวร่างกาย และเปลื้องผ้า และเมื่อจำแนกข้อมูลลักษณะของความรุนแรงที่คนพิการการถูกกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยรวม มีคนพิการ จำนวน 34 คนถูกกระทำรุนแรงถึง 54 ลักษณะ 

รศ.ดร.บุญเสริม กล่าวว่า สิ่งที่ค้นพบคือเราได้เห็นความรุนแรงที่พวกเขาต้องเผชิญ เห็นจำนวน และข้อมูลมี 2 ราย ใน 200 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ แต่สถานการณ์ความเป็นจริง อาจจะมีมากกว่านั้น แต่ซ่อนอยู่ ซึ่งข้อสังเกตคือหากคนพิการบอกว่าไม่รู้ ไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ นี่คือความรุนแรง  

ฉะนั้นจึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องความรุนแรงกับคนพิการ และคนที่อยู่รอบข้างเขาด้วย เช่น คนในครอบครัว ขณะที่ผู้ช่วยคนพิการ (PA) คนทำงาน ต้องมีการจัดการให้ความรู้กับเขาเรื่องความรุนแรง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ละเลยไม่ได้ คนทั่วไป ป้องกัน เยียวยา แต่คนพิการ มันยากขึ้นกว่านั้นอีก เมื่อคนพิการถูกกระทำ เช่น คนพิการทางสายตา คนหูหนวก ถูกกระทำจากคนในครอบครัว 

"ในผลงานวิจัย มี 34 คน คิดเป็น 17 เปอร์เซนต์  ถูกกระทำความรุนแรงจำนวน  54 ลักษณะ ซึ่งเป็นการถูกกระทำหลายอย่าง  ขณะที่น่าตกใจคือมีข้อมูลพบด้วยว่า มีคนหนึ่งถูกกระทำถึง 7 ลักษณะ นี้คือความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย  ถ้า PA เขาสแกนได้เร็วถึงความผิดปกติ เห็นความรุนแรง หรือคนในชุมชน อบต. สังเกตเห็น จะช่วยได้ทัน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ทะเลาะกัน ถ้าไม่แจ้ง ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ  ขณะที่คนในครอบครัว ผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะพึ่งพิง บางครอบครัวเขาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ เบี้ยคนพิการ ลูกหลานก็เอาไปใช้ ปัญหามันซ้อนทับ ความรุนแรง มันอาจไม่รู้สึกว่ารุนแรง เพราะต้องอดทนไป อยู่กันไป เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ หลายหนก็ไม่ไหว" รศ.ดร.บุญเสริม ระบุ  

รศ.ดร.บุญเสริม ระบุทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือคนในชุมชนต้องช่วยกันการปกป้อง ดูแลคนพิการ 
ที่ผ่านมาก็ยังถือว่าน้อยอยู่ คนในชุมชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ส่วนในเรื่องสวัสดิการ หน่วยงานรัฐก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม ส่วนหน้าที่คุ้มครอง พม. ต้องมีนโยบาย เช่น ต้องผลิต พัฒนาศักยภาพ  PA ให้เป็นช่องทางช่วยแบ่งเบา และร่วมทำงานควบคู่ไปกับ อสม. อพมก. ซัพพอร์ตกัน พม. ต้องตื่นตัวในการสร้างความรู้  พัฒนาทักษะ ให้คนทำงาน มีการอัพเกรด PA ด้านความรู้ สวัสดิการ หรือ จิตอาสา ช่วยสังคม ซึ่งต้องทำอย่างจริงจัง ตอนนี้เอ็นจีโอก็ทำงานนำร่องมาแล้วในเรื่องข้อมูลความรุนแรง ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญมากคือเรื่องของทัศนคติต่อปัญหาความรุนแรง สังคม กลุ่มเป้าหมาย  อย่ามองว่าไม่มีปัญหา ซึ่งความจริงคนพิการเผชิญความรุนแรงรายวัน สังคม ชุมชน ต้องอย่ามองว่าไม่เป็นปัญหา 

ทางด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.  กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของ สสส. ระยะ 5 ปี (2566 - 2570) ภายใต้ห่วงโซ่ผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพ มีด้วยกันหลากหลายประเด็น ประกอบด้วย 1. ศึกษาและผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2. สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและอื่นๆ 3. ทบทวนและพัฒนาองค์ความรู้/นวัตกรรม/หลักสูตร/กระบวนการเพื่อพัฒนาในประเด็นที่เป็นจุดเน้นของการพัฒนาคนพิการ

4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายระดับต่าง ๆ รวมถึง สร้างความเข้าใจต่อเครื่องมือและกระบวนการต้นแบบที่ สสส. ได้พัฒนาไว้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ขยายผล 5. สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลคนพิการ ในรูปแบบที่เข้าถึงและใช้งานได้สะดวก 6. สนับสนุนให้เกิดกลไกในการติดตามประเมินผลและหนุนเสริมการดำเนินงานของภาคีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 7. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมตามประเภทความพิการและตามช่วงวัย อาทิ ทักษะในการดำรงชีวิต การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง การเตรียมความพร้อมทำงานหรือประกอบอาชีพหรือยกระดับฝีมือ 8. รณรงค์สื่อสารสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติของคนพิการ ครอบครัว และสังคม ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆ