ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอมานพ’ ชี้ อนาคต ‘ระบบบัตรทอง’ หากให้เกิดความยั่งยืน บริการรักษาโรคซับซ้อน ควรปรับให้ ปชช. ‘ร่วมจ่าย’ เพราะ ยา-การรักษา บางรายการ ‘เบิกไม่ได้’


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะมีความยั่งยืนได้ ควรมีการปรับระบบการจ่ายค่าบริการให้เป็นประชาชนร่วมจ่าย (Co-payment) ในกรณีโรคที่มีความซับซ้อน เนื่องจากวิธีการรักษาโรคลักษณะนี้บ่อยครั้งไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ หรือยาหลายชนิดไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผลกระทบตกไปอยู่ที่โรงพยาบาลที่อาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทน และผู้ป่วยที่อาจไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย 1 คนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนั้น มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก อย่างโรงพยาบาลในต่างจังหวัด แม้จะเป็นโรคเดียวกันก็ตาม เนื่องจากในบางโรคที่ผู้ป่วยมารักษามีระดับความซับซ้อนต่างกันค่อนข้างมาก

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าเป็นอาการที่รักษาง่าย แน่นอนว่าเขาต้องเลือกไปที่โรงพยาบาลชุมชน แต่เมื่อเป็นอาการที่รักษาด้วยทุกวิธีเท่าที่ศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนมีแล้ว แต่ยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ สุดท้ายก็อาจถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่สามารถให้การรักษาได้ เพราะมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัย ซึ่งหมายรวมถึงต้นทุนการรักษาที่ใช้ก็สูงขึ้นด้วย แต่ระบบเบิกจ่าย หรือกลไกทางการเงินอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมองว่าเป็นรายการโรคเดียวกัน จึงกำหนดเป็นราคากลางสำหรับเบิกจ่ายไว้เท่ากันทุกโรงพยาบาลทั้งประเทศ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยต้องการและมีความยินยอมที่จะรับการรักษาภายใต้การใช้เครื่องมือและวิธีการรักษาที่เหมาะกับความซับซ้อนนั้น ซึ่งอาจเป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาได้ ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมด้วยในส่วนต่างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ยินยอมก็ต้องยอมรับว่าไม่มีวิธีการรักษาอื่นที่สามารถรักษาให้หายได้ และรับการรักษาในแบบที่สามารถเบิกจ่ายในระบบบัตรทองได้ 

“ไม่เช่นนั้นหากโรงพยาบาลให้การรักษาทั้งที่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ได้ ก็กลายเป็นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นไปแบบนี้ต่อไปนานๆ หรือมากขึ้น โรงพยาบาลอาจจะอยู่ไม่ไหวเหมือนกัน หลายโรงพยาบาลก็จะรู้กันอยู่แล้ว ถ้าคนไข้ไม่สามารถร่วมจ่ายในการรับการรักษาที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ได้ ก็จะไม่เสนอทางเลือกนี้ให้คนไข้รับรู้เลย เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจกันหลังจากนั้น” ศ.นพ.มานพ ระบุ

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นแนวทางของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ หากเจอกรณีแบบนี้ คือ 1. โรงพยาบาลอาจยอมหาและให้การรักษาด้วยวิธีที่สามารถรักษาโรคซับซ้อนเหล่านั้นได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความฉุกเฉินจริงๆ และต้องตัดสินใจอย่างทันท่วงที โดยเลือกที่จะขาดทุนก่อน แล้วค่อยหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณจากการการเบิกจ่ายชดเชยที่ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ ค่าบริการในกลุ่มผู้ป่วยที่เลือกรับผิดชอบเอง หรือระบบประกันสุขภาพเอกชนต่างๆ เพื่อเอากำไรที่ได้มาถัวเฉลี่ย แต่แน่นอนว่าจะสามารถทำได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถแทนกันได้หมด และ 2. ถ้าผู้ป่วยในกรณีที่ไม่ฉุกเฉินและไม่ยินยอมที่จะร่วมจ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าจะไม่มีวิธีอื่นในการรักษา

“ทางแก้ซึ่งทุกคนรับรู้ร่วมกันมานานแล้วก็คือ การร่วมจ่าย แต่พอพูดแบบนี้มันจะกลายเป็นเผือกร้อนที่ฝ่ายกำหนดนโยบาย หรือฝ่ายการเมืองไม่อยากแตะ เพราะจะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในภาพรวม และเกิดแรงเสียดทาน แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติสิ่งนี้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว มีคนที่ยอมจ่ายเพื่อรับการรักษาหรือยาที่อยู่นอกสิทธิการรักษา ไม่ใช่ไม่เคยมี เพียงแต่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของระบบเท่านั้น” ศ.นพ.มานพ ระบุ