ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ ชมรม นวก.สธ.ฯ เผย สธ. หารือ ก.พ. แล้ว รับรู้ตรงกัน จัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง ‘นักสาธารณสุข’ ต้องรวม ‘นักวิชาการสาธารณสุข’ ที่มีวุฒิ ‘วิทยาศาสตร์บัณฑิต’ หรือเทียบเท่าได้กับ ‘สาธารณสุขศาสตร์’ ตามที่สภาการสาธารณสุขฯ รับรอง – ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ก.พ.


จากกรณีที่ ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าแนวทางการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขและความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ โดยหนึ่งในสาระสำคัญ คือ การให้ สธ. ตีความการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข โดยรวมผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และมีปริญญาหรือคุณวุฒิอื่นที่เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกับสาขาสาธารณสุขศาสตร์ และตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น (ชมรมนวก.สธ.ยื่นหนังสือ 'ชลน่าน' พร้อมหารือปมจัดตำแหน่ง 'นักสาธารณสุข' ตีความแคบ | TheCoverage.info)

ล่าสุด ดร.ริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า เมื่อวานนี้ (1 เม.ย. 2567 ) ทางชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ มีการสอบถามไปยังกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. ถึงความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว และได้รับคำตอบว่าตอนนี้ กองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. มีการหารือกับ ก.พ. เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ ดร.ริซกี ระบุว่า ทางกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. ได้รับทราบแล้วว่าการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัด สป.สธ. จะหมายรวมคนที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และมีปริญญาหรือคุณวุฒิที่เทียบเท่าได้ในระดับเดียวกับสาขาสาธารณสุขศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) คุรุศาสตร์บัณฑิต (คบ.) ศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศบ.) สาขาต่างๆ ตามที่สภาการสาธารณสุขฯ รับรอง และตรงตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของ ก.พ. ด้วย ซึ่งขณะนี้กองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. กำลังเตรียมนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไปตามขั้นตอน

อย่างไรก็ดี หากกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. พิจารณาในส่วนนี้แล้วจะมีการดำเนินการอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป เช่น ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน (นักวิชาการสาธารณสุข ที่เป็นข้าราชการในสังกัด สป.สธ. ในระดับปฏิบัติการ หรือ ซี 3-5 และระดับชำนาญการ หรือซี 6-7) จะตรวจสอบอีกครั้งภายใต้การตีความใหม่นี้ หรือจะนำข้อมูลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนโดยหมายรวมผู้มีวุฒิ วท.บ. และอื่นๆ นำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.สธ. พิจารณาเลยหรือไม่

“ประเด็นสำคัญตอนนี้คือกลุ่มแรกที่ อ.ก.พ.สธ. มีมติให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ ยังไม่มีหนังสือสั่งการไปที่จังหวัดเพื่อให้ดำเนินการต่อ ดังนั้นกลุ่ม วท.บ. และอื่นๆ ก็ต้องรอต่อไปว่าจะมีความชัดเจน หรือจะดำเนินการต่อยังไง แต่เบื้องต้นความคืบหน้าคือมันปลดล็อกแล้ว ภายในกองบริหารทรัพยากรบุคคล เขาเข้าใจแล้วว่าต้องดำเนินการไปแบบนี้ ซึ่งตรงกันกับนักสาธารณสุขทั่วประเทศ”

“เราก็ลุ้นว่ากลุ่มแรกที่เป็นสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต 2,200 คน ถ้าเขาพิจารณาแล้วก็รีบจัดคนลงส่งผู้ตำแหน่ง กลุ่มที่เป็น วท.บ. ก็น่าจะพิจารณาตามๆ กัน ผมเดาว่าน่าจะมีอีกเท่าตัวคือ 2,000 – 3,000 กว่าคน ซึ่งถ้าเสร็จกลุ่มนี้แล้ว จะได้ไปพิจารณาในกลุ่มอื่นๆ ต่อ รวมถึงในส่วนท้องถิ่นเองที่กำลังรอแนวทางของทาง สธ. จะได้ดำเนินการล้อตามกันไป” ดร.ริซกี ระบุ