ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การส่งเสริมในเรื่องของ "อาหารปลอดภัย" ถือเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งหลายพื้นที่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นสัดส่วนหลักของพื้นที่ และหนึ่งในนั้นก็คือ "จ.เลย" ที่มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทั่งเกิดรูปธรรมจนกลายเป็น "มาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย" หรือ Loei Safety Food (LSF)

นับตั้งแต่ปี 2561 ที่จังหวัดเลยประกาศใช้มาตรฐาน "LSF" มาเป็นตัวการันตีอาหารที่มีความปลอดภัย โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่จาก "เกษตรเคมี" มาสู่ "เกษตรอินทรีย์" จนได้รับมาตรฐาน LSF ไปแล้วจำนวน 206 แปลง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านค้า 13 แห่ง และตลาดเกษตรอินทรีย์ อีก 1 แห่ง

อาจถือได้ว่านี่เป็นตัวอย่างผลสัมฤทธิ์จากการใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของ "สมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย" และภาคีเครือข่ายในจังหวัดที่ร่วมกันปลุกปั้นข้อเสนอเชิงนโยบาย ขึ้นมาเป็นฉันทมติของสมัชชาสุขภาพจังหวัด และกลายไปเป็นนโยบายของจังหวัดในที่สุด

บทเรียนและประสบการณ์จากเรื่องนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ภายในเวที ก้าวที่ 9 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย "การขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มาร่วมเป็นประธานในพิธี

นพ.ชลน่าน ได้ระบุถึงกลไก "สมัชชาสุขภาพจังหวัด" ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่สนับสนุนให้เครือข่ายระดับพื้นที่ได้นำนโยบายในระดับประเทศมาขับเคลื่อนในระดับจังหวัด เพื่อเกิดเป็นรูปธรรมส่งที่ผลให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น

สำหรับที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ย้อนกลับไปในปี 2560 เมื่อเครือข่ายกสิกรรมยั่งยืนอำเภอภูหลวง และสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ได้ร่วมกันขอใช้สิทธิในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วน "ว่าด้วยความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร" โดยมีการกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนไว้ 2 ประการ คือ 1. ในปี 2568 คนเมืองเลยและผู้มาเยือน จะมีอาหารที่ปลอดภัยรับประทานได้อย่างมั่นใจ

2. ควรมีการกำหนดมาตรฐานที่เรียกว่า "มาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย" (Loei Safety Food) ขึ้นเองเป็นการเฉพาะ โดยให้ "ผู้ปลูก ผู้ปรุง และผู้เปิบ" มาร่วมกันกำหนด โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ขั้นตอนการพิจารณาและตัดสินใจ และให้สัญลักษณ์แสดงมาตรฐานแก่ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย

ต่อมาในปี 2561 ในคราวประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาร่วมกันพิจารณาพร้อมให้ฉันทมติ "มาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย" หรือมาตรฐาน LSF เป็นมาตรฐานเฉพาะที่ชาวจังหวัดเลย ทั้ง "ผู้ปลูก ผู้ปรุง ผู้เปิบ และตลาดจาหน่าย" ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น

ทั้งนี้ มติสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ประเด็น มาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย Loie Safety Food (LSF) มีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการ คือ 1. เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบอาหาร ผู้แปรรูปอาหาร ผู้ประกอบการขนส่ง ใช้เป็นแนวทางในการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง ปรุง แปรรูป การตลาด เพื่อให้ได้อาหารทุกประเภทมีความปลอดภัย

2. เพื่อให้หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการและอนุกรรมการ ได้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการกำกับ ควบคุม ติดตาม รับรอง แหล่งผลิต สถานประกอบการ และระบบการตลาด เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดเลยและผู้มาเยือนได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัย

หลังจากนั้น "มาตรฐาน LSF" ก็ได้ถูกนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อเสนอต่อกรมการจังหวัดให้ประกาศเป็น "วาระจังหวัดเลย" รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปบรรจุเป็นแผนงาน เพื่อสนับสนุนให้การขับเคลื่อนมาตรฐานอาหารปลอดภัยบรรลุเจตนารมณ์ต่อไป

นับแต่นั้นภารกิจดังกล่าวก็ได้มีการเดินหน้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เกิดกระบวนการรับรองมาตรฐานผู้ผลิต แปลงผลิต ผู้ปรุง ผู้ประกอบการร้านค้า ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนงานยุทธศาสตร์ต่างๆ ด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย

อีกหนึ่งเครื่องมือของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ที่ถูกนำมาใช้คือ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ซึ่งจากรายงานการศึกษากรณีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม "มาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย (Loei Safety Food)" พบว่านโยบายนี้ได้เกิด "ผลกระทบเชิงบวก" ทั้ง 4 มิติ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ทุกฝ่ายจึงเห็นสมควรดำเนินการต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในปี 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับสุขภาวะประชาชน (พชจ.) ยังมีมติให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทุกอำเภอ บรรจุเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นประเด็นดำเนินการในปีนั้นด้วย

กระทั่งในปี 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะทำงานบูรณาการมาตรฐานอาหารปลอดภัย จังหวัดเลย" เป็นกลไกที่ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบูรณาการข้อมูลและขับเคลื่อนงานด้านอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรหลักที่ทำงานด้านนี้โดยตรง

ภายหลังการเกิดขึ้นของคณะทำงานชุดนี้ ได้มีการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง, อาหารปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก, ขยายตลาดอาหารปลอดภัยทั่วจังหวัด, รับรองร้านค้าและมอบป้ายร้านค้าที่รับวัตถุดิบจากเครือข่ายอาหารปลอดภัย

จากบทเรียนตลอดเส้นทางในกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย จะเห็นได้ว่านี่เป็นกลไกพหุภาคีที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ทำให้การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัด และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ในทุกมิติ ทั้งยังมีการบูรณการร่วมกับแผนงานของหน่วยงานในจังหวัด จึงได้รับการสนับสนุนการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คสช. ซึ่งร่วมวงเสวนาในหัวข้อ "เลยเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ" ได้ระบุถึงบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการสนับสนุนสมัชชาสุขภาพจังหวัดขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหาร พร้อมชื่นชมถึงกระบวนการของสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี และมีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งด้วยบทบาทความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นพ.ปรีดา ระบุว่า การขับเคลื่อนของ จ.เลย จะสามารถยกระดับต่อไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ จ.เลย สามารถกลายเป็นเมืองตัวอย่างระดับโลกในการเป็นเมืองแห่งสุขภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่สามารถกลับออกไปได้โดยมีสุขภาพที่ดี รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยเองก็มีสุขภาพที่ดีด้วย

"เราจะเห็นในหลายเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดัง พอคนนอกเข้ามากอบโกย หากเรารักษาสิ่งที่มีอยู่เอาไว้ไม่ได้ พอหมดจุดแข็งแล้วคนก็ออกไป แต่หากเราจะทำให้ จ.เลย พัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน หมายความว่าคนที่นี่ก็จะอยู่ได้ และทุกคนที่มาเที่ยวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย" นพ.ปรีดา ให้แนวคิด

รองเลขาธิการ คสช. ยังระบุด้วยว่า นอกจากอาหารปลอดภัยที่มาจากมาตรฐานต้นทางแล้ว ในกลางทาง การปรุงอาหารเองก็อยากให้คำนึงถึงการปรุงที่ดีต่อสุขภาพ การลดหวาน มัน เค็ม เพื่อที่สุดท้ายอาหารนั้นจะดีต่อสุขภาพได้ไปจนถึงปลายทางสู่ผู้บริโภค ขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์มาตรฐาน LSF เองก็สามารถใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งขายไปถึงมือผู้บริโภคในที่อื่นๆ ได้ ไม่เฉพาะการจำหน่ายภายในจังหวัดอย่างเดียว