ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอชลน่าน" ประชุม คกก.อำนวยการฯ ขับเคลื่อน 30 บาทอัพเกรด ที่มีทั้งกลาโหม กทม.และ สธ. เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการฯ เดินหน้า 3 ประเด็น รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. ให้จัดทำ MOU เพิ่มการเข้าถึงบริการ รพ.เขตดอนเมือง, 30 บาทรักษาทุกที่ รุกเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยบริการสังกัดกลาโหมในเฟสสอง และใช้ค่ายทหารบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติด พร้อมจัดทำ 1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี 


วันที่ 16 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ (30 บาทอัพเกรด) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พลเรือเอกสุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บริหาร สธ. กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วม 

4

4

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก หลังจากได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 โดยมีตนและนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา และมี ปลัด สธ. เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการทำงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ 3 คณะ เพื่อประสานความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. นโยบายโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล มี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัด สธ. เป็นประธาน เพื่อจัดทำแนวทางบริหารและพัฒนาหน่วยบริการที่ใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ทหาร รวมถึงแนวทางพัฒนาระบบบริการรองรับนโยบายนี้ โดยจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลประจำเขตดอนเมือง คือ โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน หรือวันที่ 15 มี.ค. 2567 

1

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า 2. การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัด สธ. เป็นประธาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือ จัดทำแนวทางเชื่อมโยงระบบข้อมูล รวมถึงกำกับติดตาม แก้ไขปัญหาอุปสรรคการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งจะมีการเดินหน้าระยะที่สองในอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา โดยหน่วยบริการสังกัดกระทรวงกลาโหมจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์กับ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการบริการได้มากขึ้น 

3. ระบบการดูแลสุขภาพจิต/ยาเสพติด ค่ายทหารสุขภาพดี และการจัดระบบบริการทางการแพทย์ร่วมกันในเขตสุขภาพ (One Region One Hospital) มี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด สธ. เป็นประธาน โดยใช้สถานที่ในค่ายทหารรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่ยังไม่พร้อมกลับสู่ครอบครัว สังคมและชุมชน โดยทหารทำหน้าที่เสมือนญาติในการดูแลเตรียมพร้อมก่อนกลับคืนสู่สังคม และใช้โรงพยาบาลค่ายและค่ายทหาร เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมบางส่วนของระบบการบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) 

4

"นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์สุขภาพกำลังพลกองทัพบกประเทศไทย (2560-2564) พบว่า ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 44 อัตราความชุกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น อาทิ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงได้เห็นชอบแนวทางค่ายทหารสุขภาพดี “1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี” โดยจัดตั้งองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพในค่ายทหารทั่วประเทศ ส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรค โดยใช้ระบบประเมิน ปรับเปลี่ยน ติดตาม รักษาตามหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสร้างสิ่งแวดล้อมภายในค่ายทหารเพื่อเอื้อต่อสุขภาวะที่ดี" นพ.ชลน่าน กล่าว