ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นอีกหนึ่งใน 13 นโยบายระดับ 'Quick Win' ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่วางเป้าหมายเพื่อให้มีการจัดบริการสุขภาพอย่างเต็มระบบให้กับคนกรุงเทพฯ 

อันเป็นการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ทุกเขต หรือเขตใกล้เคียงกันได้มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ รองรับผู้ป่วยได้อย่างน้อย 120 เตียง 

สำหรับทิศทางความคืบหน้าของการเติมเต็มนโยบายเพื่อให้รองรับสุขภาพของคนเมืองใหญ่นี้ ดูจะออกดอกผลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนบ้างแล้ว เพราะล่าสุดมีความคืบหน้าจาก สธ. ที่เตรียมโรงพยาบาลของรัฐเอาไว้ 2 แห่ง คือ 'โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีคุ้มเกล้า' และ 'โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต)'  ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โซนตะวันออก และโซนเหนือ 

นอกจากนี้ “The Coverage” ยังได้ข้อมูลความคืบหน้าของการดำเนินการของทั้ง 2 โรงพยาบาล รวมถึงก้าวต่อไปของการพัฒนาไปถึงเป้าหมายของทั้ง 2 แห่ง ด้วย ซึ่งบอกได้เลยว่าเป้าที่พวกเขาวางเอาไว้ เกินกว่าเป้าหมายที่เป็นนโยบายของ สธ. ทั้งการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง การขยายห้องผ่าตัด และการเตรียมขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยให้ได้ถึง 400 เตียง 

1

รพ.นพรัตน์ราชธานีคุ้มเกล้ารับผู้ป่วยใน ก.พ. 67 นี้

เริ่มจาก โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีคุ้มเกล้า เป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ มีขนาดพื้นที่ 20 ไร่ สร้างแล้วเสร็จเมื่อ ส.ค. 2562 ทำเลที่ตั้งอยู่ติดถนนคุ้มเกล้า แขวงสามเสน เขตมีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับเขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และเขตหนองจอก บริเวณข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม

พร้อมรองรับการดูแลสุขภาพประชากรจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิบัตร 30 บาท) จำนวน 9,763 คน โดยมีโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อในระยะทาง 15 กิโลเมตร 

โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีคุ้มเกล้า ได้วางเป้าหมายในระยะ 1 ปีว่าจะต้องเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อระดับทุติยภูมิในเขตมีนบุรีที่มีประสิทธิภาพ และต้องมีหอผู้ป่วยใน 25 เตียง รวมถึงเพิ่มหอผู้ป่วยพิเศษอีก 10 เตียง 

4

ปัจจุบัน โรงพยาบาลเปิดให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงบริการแพทย์เฉพาะทาง ทั้งในด้านกลุ่มงานอายุกรรมทั่วไป โรคไต ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก กุมารเวชกรรม สูตินรีเวชและฝากครรภ์ และกลุ่มงานทันตกรรม ซึ่งทั้งหมดได้เปิดบริการกับประชาชนในเขตมีนบุรี และเขตใกล้เคียงไปแล้ว     

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่ 22 ม.ค. 2567 นี้ จะขยายขอบเขตการบริการมากขึ้น โดยจะมีกลุ่มงานห้องฉุกเฉิน งานกายภาพบำบัด ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องเอ็กซเรย์ และกลุ่มงานห้องตรวจปฏิบัติการ (ห้องแล็บ)

จากนั้นจะก้าวเข้าไปสู่การสอดรับนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล ใน กทม. ในเดือน ก.พ. 2567 ทันที โดยจะมีหอผู้ป่วยในจำนวน 25 เตียง ซึ่งจะเป็นการรับผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องรักษาไว้ค้างคืนได้ ก่อนที่ในเดือนพ.ค. 2567 จะมีบริการห้องผ่าตัดครบวงจรเข้ามา 

ในขณะนี้ศักยภาพของโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีคุ้มเกล้า มีอาคารรองรับการบริการสุขภาพอยู่ 3 อาคาร แบ่งเป็นอาคารแรกขนาด 2 ชั้น สำหรับผู้ป่วยนอก รวมถึงแพทย์เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยใช้ปฏิบัติงาน เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. 

อาคารที่สอง มีขนาด 2 ชั้นเช่นกัน จะเป็นพื้นที่ของงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูทั้งหมด และรองรับผู้ป่วยในได้จำนวน 10 เตียง ส่วนอาคารที่สาม จะมี 4 ชั้น เป็นพื้นที่ของห้องฉุกเฉิน ห้องตรวจนอกเวลา ห้องผ่าตัดเล็ก และห้องเอ็กซเรย์ รวมถึงยังเป็นพื้นที่ของหอผู้ป่วยใน ที่รองรับได้ 25 เตียงอีกด้วย 

ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ในปี 2565 ให้บริการ OPD ไปทั้งหมดรวม 1.2 หมื่นครั้ง และในปี 2566 ให้บริการ 1.8 หมื่นครั้ง แบ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง ให้บริการมากสุดจำนวน 3,716 เคส รองลงมาคือผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ที่สัดส่วนใกล้เคียงกันคือประมาณ 1,600 - 1,800 ราย 

5

รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต)ขยาย 400 เตียง พร้อมเพิ่มหมอ

ถัดมาในส่วนของโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์เช่นกัน ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริเวณ กทม. ตอนเหนือ ประมาณ 8.7 แสนคน ซึ่งครอบคลุม 6 เขต ประกอบด้วย ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน ลาดพร้าว และวังทองหลาง

โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เป็นสถานพยาบาลที่ไม่อยู่ในกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯ แต่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลสำหรับรองรับการขยายบริการของกรมการแพทย์ ในลักษณะของโรงพยาบาลทั่วไปและอุบัติเหตุ

โรงพยาบาลแห่งนี้ ถูกวางเป้าหมายวิสัยทัศน์ให้ก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินระดับ 1 และต้องเป็นศูนย์ผ่าตัดครบวงจรที่เป็นเลิศระดับชาติ โดยมีแผนระยะสั้นและระยะยาวใช้เป็นแนวทางพัฒนา โดยแผนระยะสั้น 4 ปี (ปี 2567-2570) จะเพิ่มแพทย์อีก 7 อัตรา แบ่งเป็นเวชปฏิบัติทั่วไป 3 คน รังสีแพทย์ จักษุวิทยา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู อีกตำแหน่งละ 1 คน 

1

ส่วนโครงสร้างของแผนระยะสั้น จะมีการขยายห้องตรวจ OPD จากเดิม 9 ห้อง เพิ่มเป็น 12 ห้อง รวมถึงเพิ่มเติมหอผู้ป่วยในให้ได้ 5 หอซึ่งจะรวมได้ประมาณ 100 เตียง และยังเพิ่มเติมห้องไอ.ซี.ยู อีก 6 เตียง ท้ายสุดกับการเพิ่มห้องฉุกเฉินรองรับอีก 6 ห้อง 

พร้อมกับมีการบริการในรูปแบบ Smart Hospital รวมไปถึงการบริการโรงพยาบาลเสมือนจริงหรือ Virtual Hospital ได้อีกด้วย ซึ่งจากแผนระยะสั้นจะทำให้ โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) จะมีเตียงรองรับประชากรในย่านนี้ครบ 120 เตียงในปี 2570 

ส่วนแผนระยะยาว 6 ปี (ปี 2571-2576) วางแผนให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง และเพิ่มเติมแพทย์ในระบบบริการอีกจำนวน 25 อัตรา แบ่งเป็น แพทย์ศัลยศาสตร์ 9 อัตรา แพทย์ออร์โธปิดิกส์ 2 อัตรา วิสัญญีแพทย์ 3 อัตรา นิติเวช 1 อัตรา เวชศาสตร์ฟื้นฟู 1 อัตรา เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 5 อัตรา เวชศาสตร์ครอบครัว 1 อัตรา และกุมารเวชศาสตร์ 3 อัตรา รวมไปถึงจะมีพยาบาลวิชาชีพอีก 102 อัตรา และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ อีกประมาณ 170 คน 

1

ทั้งหมดจะตอบสนองเป้าหมายใหญ่ของโรงพยาบาล คือการก้าวไปสู่ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินระดับ 1 และต้องเป็นศูนย์ผ่าตัดครบวงจรที่เป็นเลิศระดับชาติ ซึ่งก็มีแผนรองรับในการปรับปรุงพัฒนาสถานที่ด้วย โดยจะมีอาคารผ่าตัด กายภาพ และดูแลผู้ป่วยในขนาด 22 ชั้น รองรับ 250 เตียง รวมไปถึงมีอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ขนาด 18 ชั้นอีกด้วย 

จากแผนดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ใกล้เคียงของโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ที่ดูแลประชากร 6 เขต ประมาณกว่า 8.7 แสนคน มีเตียงรองรับประมาณ 1,900 เตียง ทำให้อัตราเตียงต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จาก 0.78 เตียงต่อ 1,000 ประชากร เป็น 1.62 เตียงต่อ 1,000 ประชากร 

สธ.หนุนเสริม กทม. ดูแลสุขภาพประชาชน

จากความคืบหน้าในแนวทางการพัฒนาการบริการของทั้ง 2 โรงพยาบาล เพื่อตอบรับกับนโยบายของ รมว.สธ. ก็จะทำให้หัวมุมเมืองของ กทม. ทั้งโซนตะวันออก และโซนเหนือ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่พร้อมรองรับดูแลสุขภาพของคนกรุงเทพฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลทหารอากาศ (ทุ่งสีกัน) ถูกเลือกเป็นอีกหนึ่งจุดที่เข้าร่วมหนุนเสริมนโยบาย 

4

นพ.ชลน่าน ที่ล่าสุดให้ความคืบหน้ากับนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล กลางงานติดตามและเยี่ยมชมการดำเนินการตามนโยบาย สธ. ของโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อ 15 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาย้ำว่า การสร้างโรงพยาบาลใน กทม. จะไม่เป็นการทำงานซ้ำซ้อน หรือไปก้าวล่วงความรับผิดชอบของ กทม. หรือแม้แต่การเข้าไปแย่งงานกันทำ เพราะ กทม. ก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของคนกรุงเทพฯ แต่ทว่า สธ. จะเข้าไปหนุนเสริมในพื้นที่ที่อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพื่อกระจายการบริการสุขภาพให้ถึงกับประชาชนทุกคน 

"ทั้ง 2 โรงพยาบาลจะเข้ามาเติมเต็มระบบสาธารณสุขให้กับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการมีโรงพยาบาลกระจายไปทุกมุมเมือง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในเขตของโรงพยาบาล รวมถึงเขตใกล้เคียงกันได้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะกับประชาชนสิทธิบัตร 30 บาท ซึ่งยังสอดรับกับนโยบายหลัก คือการยกระดับบัตร 30 บาทที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุภาพที่เท่าถึง และเท่าเทียม" นพ.ชลน่าน กล่าว