ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายการสร้าง ‘ความมั่นคงทางสุขภาพ’ ให้กับประเทศ ผ่านแผนขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (Strategy House) ที่จะสร้างเอกภาพในการทำงานของหน่วยงาน-กรม-กอง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ที่ต้องการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง-บัตร 30 บาท ไปสู่คุณภาพใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการ ‘30บาทอัพเกรด’ และหนึ่งในนั้น คือการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล

อย่างไรก็ดี ภายใต้การขับเคลื่อนงานเพื่อดูแลประชาชน ภายใต้ 13 นโยบายหลัก สธ. ยังมีจุดเน้นเรื่อง ‘การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร’ ที่มุ่งสนับสนุนให้บุคลากรทุกคน ทุกระดับ ให้มีความก้าวหน้ามั่นคงในอาชีพ 

ทั้งนี้ ภายในแผนขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ได้แบ่งมาตรการหลักออกเป็น 3 ด้านใหญ่ ได้แก่ 1. การพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ 2. การพัฒนาความมั่นคงในอาชีพ และ 3. การพัฒนาค่าตอบแทน

ในแต่ละมาตรการ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจาก 1. การพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ จะกำหนดตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น นำร่องสายงานพยาบาลวิชาชีพ, กำหนดแผนการอ่านผลงานทางวิชาการให้แล้วเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน, จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงรูปแบบ วิธีการ ประเมินผลงานทางวิชาการ

2. การพัฒนาความมั่นคงในอาชีพ จะบรรจุผู้ที่ได้รับการจ้างงานประเภทอื่นเป็นข้าราชการสายงานคัดเลือก, จัดทำข้อเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์, จัดทำข้อเสนอหลักเกณฑ์การคัดเลือกบรรจุในสายงาน ที่ต้องการผู้มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ในงาน และมีการแข่งขันทางการตลาดสูง

3. การพัฒนาค่าตอบแทน โดยจะเสนอหลักเกณฑ์หลักสูตรการลาศึกษา ลาฝึกอบรมต่อ อ.ก.พ. สป.สธ. พิจารณาหลักสูตรที่ขาดแคลนหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนราชการ โดยให้ถือว่าเป็นการไปปฏิบัติราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมทางราชการ พ.ศ. 2524, เสนอ อ.ก.พ. กสธ. พิจารณาอนุมัติกรณีข้างต้น เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ, ผลักดันการอนุมัติหลักเกณฑ์ปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทน (พ.ต.ส.)

สำหรับ Quick Win แบ่งออกเป็น 1. ช่วง 100 วันแรก เสนอ อ.ก.พ. กสธ. อนุมัติการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ชพ. จำนวน 10,124 ตำแหน่ง, บรรจุผู้ได้รับการจ้างงานอื่นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับราชการในตำแหน่งว่างเดิม จำนวน 3,000 ตำแหน่ง, เสนอ อ.ก.พ.สป. อนุมัติหลักเกณฑ์การลาฝึกอบรม/ลาศึกษาของแพทย์ในหน่วยงานสังกัด สธ. โดยให้ถือว่าเป็นการไปปฏิบัติราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมทางราชการ พ.ศ. 2524

2. ในช่วง 6 เดือน ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ จัดทำแผนและดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญที่จะเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 10,124 ตำแหน่ง, จัดทำข้อเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์ ต่อสำนักงาน ก.พ. พิจารณาอนุมัติ, แจ้งเวียนข้อมูลหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติจาก อ.ก.พ.สป. ว่าเป็นหลักสูตรที่ขาดแคลนหรือเป็นประโยชน์ต่อส่วนราชการ โดยให้ถือว่าเป็นการไปปฏิบัติราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมทางราชการ พ. ศ. 2524, จัดทำข้อเสนอหลักเกณฑ์การคัดเลือกบรรจุในสายงานที่ต้องการผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์ในงาน และมีการแข่งขันทางการตลาดสูง ต่อสำนักงาน ก.พ. พิจารณาอนุมัติ, จัดทำคำขออัตราข้าราชการตั้งใหม่ ต่อสำนักงาน ก.พ. พิจารณา

3. ในช่วง 9 เดือน ดำเนินการอ่านผลงานทางวิชาการ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับชำนาญการพิเศษ ภายในจำนวน 10,124 ตำแหน่ง, ก.พ. อนุมัติหลักเกณฑ์การคัดเลือกบรรจุในสายงานที่ต้องการผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์ในงานและมีการแข่งขันทางการตลาดสูง, ก.พ. อนุมัติหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์

4. ในช่วง 12 เดือน มีผู้ผ่านการประเมินบุคคลได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น สายงานภายพยาบาลวิชาชีพ ชพ. ในจำนวน ตามที่ อ.ก.พ. ก.สธ.อนุมัติ, ก.พ. อนุมัติหลักเกณฑ์ปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทน (พ.ต.ส.), สธ.ได้รับได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่