ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไซโลไซบิน (Psilocybin) หรือ แอลเอสดี (LSD) คือ สารหลอนประสาทชนิดหนึ่งที่พบในกลุ่มเห็ดจำนวนมากกว่า 200 ชนิด บนโลกนี้ โดยหนึ่งในนั้นก็มีชนิดที่คนไทยเราพอจะรู้จัก หรือพอคุ้นหูกันบ้างก็คือ 'เห็ดขี้ควาย' หรือ ‘เห็ดวิเศษ’ ซึ่งถูกจัดให้เป็น ‘ยาเสพติด’ ให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  

ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่จัดให้มันอยู่ในกลุ่มยาเสพติด แต่ในหลายประเทศก็จัดให้มันอยู่ในกลุ่มสารเสพติดให้โทษด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีการทดลองหนึ่งที่เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society Journals) หรือ ACS ซึ่งทำให้เห็นว่าเจ้า ‘ยาเสพติด’ ชนิดนี้อาจเป็นอีกหนึ่งในความหวังในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายได้!

เรื่องนี้เกิดขึ้นจาก นักวิจัยจากสถาบันมะเร็ง Dana–Farber วิทยาลัยการแพทย์ฮาวาร์ด บอสตัน สหรัฐฯ ที่ทดลองการวิจัยทางคลินิก พร้อมกับตั้งโจทย์ว่า ไซโลไซบินที่เป็นสารหลอนประสาท หรือทำให้เคลิบเคลิ้ม จะมีผลอย่างไรต่อผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย 

ผลก็คือพบว่า ยาที่มีส่วนผสมของสารไซโลไซบิน มีผลช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็ง มีอาการซึมเศร้าลดลง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตระยะท้ายของผู้ป่วยดีขึ้น 

ดร.อีวาน โบสซองต์ หัวหน้าทีมนักวิจัย และในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ของสถาบันมะเร็ง Dana-Farber กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งว่า 1 ใน 3 จะมีอาการซึมเศร้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวล และทุกข์ใจ จนทำให้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือคำแนะนำในการรักษา ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็วก็สูงขึ้น 

ดร.อีวาน อธิบายต่อไปว่า แต่ด้วยผลการวิจัยจากนักวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบุไปในทางเดียวกันว่า ประสบการณ์จากการได้รับสารไซโลไซบิน อาจช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ หรือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายดีขึ้นได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการวิจัยชิ้นนี้ ที่ได้ทำการศึกษาผู้ป่วย 30 ราย ที่ได้รับยาที่มีสารไซโลไซบิน หรือสารแอลเอสดี ขนาด 25 มิลลิกรัม 1 ครั้ง และวัดผลหลังจากผ่านไป 8 สัปดาห์ พบว่า ระดับความซึมเศร้าของผู้ป่วยมะเร็งลดลงเกือบทั้งหมด 

ขณะที่ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงจำนวน 15 คน ก็พบว่าหลังจากได้รับสารไซโลไซบินเข้าไปแค่ 1 สัปดาห์ อาการซึมเศร้ารุนแรงที่เป็นอยู่ ก็ทุเลาอย่างสมบูรณ์ รวมถึงตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยตอบรับกับสารไซโลไซบิน และมีอาการซึมเศร้าทุเลาไปกว่า 80% 

ดร.อีวาน กล่าวว่า การศึกษานี้ให้ผลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้สารไซโลไซบินสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะซึมเศร้า หรือผู้ที่ป่วยซึมเศร้ารุนแรง และจากการวิจัยก็พบว่าการได้รับสารไซโลไซบินเข้าไป ไม่มีผลทำให้ผู้ป่วย หรือผู้ที่ได้รับสารคิดอยากฆ่าตัวตาย 

อย่างไรก็ตาม สารไซโลไซบิน และยาแอลเอสดีในสหรัฐฯ ถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภท 1 ที่ยังผิดกฎหมายและทางการแพทย์ยังไม่ยอมรับในการนำไปใช้ แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พบว่าการบำบัดด้วยสารแอลเอสดี ซึ่งอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะคนที่ดื้อยารักษา รวมไปถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแนวทางอื่นๆ 

"ผู้ป่วยบางคนที่เป็นกลุ่มทดลอง บอกกับเราว่า รู้สึกโล่งใจหลังได้รับยา" ดร.อีวาน ย้ำ และยอมรับว่า ยังต้องวิจัยเพิ่มเติม เพราะแม้ว่าการค้นพบมีแนวโน้มที่ดีต่อผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ด้าน ดร.อคานชา ชาร์มา ประสาทวิทยา และแพทย์เวชศาสร์ประคับประคอง สถาบันประสาทวิทยาแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่ทีมนักวิจัย กล่าวเสริมว่า หากผู้ป่วยมะเร็งมีสภาวะทางจิตที่เปลี่ยนไป อาจเพราะจากสารไซโลไซบิน แต่หากช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญกับความทุกข์ใจ หรือเผชิญกับอารมณ์ซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อความลำบากในชีวิตได้ แนวทางนี้ก็น่าสนใจ 

"เราอาจต้องปรับกรอบความคิดใหม่ และกรอบของกฎหมายด้วย แต่สิ่งสำคัญ คือเราต้องยอมรับกันก่อนว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็มีสิทธิที่จะหาความสงบช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ และมันจะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งและภาวะซึมเศร้า” ดร.อคานชา ย้ำ 

กระนั้นก็ตาม หากจะมีการบำบัดด้วยสารไซโลไซบิน หรือสารที่มีผลต่อการหลอนประสาท ดร.อคานชา ย้ำว่าจะต้องได้รับการดูแลโดยนักบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมจนเชี่ยวชาญ ไม่เช่นนั้น การใช้สารหลอนประสาทที่ไม่เหมาะสม จะมีผลต่อร่างกายของผู้ป่วย โดยเฉพาะผลข้างเคียงต่อหัวใจ รวมถึงการใช้สารแอลเอสดียังอยู่ในขั้นการทดลอง ซึ่งคำแนะนำในตอนนี้คือผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญถึงคำแนะนำในการรักษาของตัวเอง  

อ้างอิง : https://www.healthline.com/health-news/psilocybin-may-help-reduce-depression-symptoms-in-people-with-cancer