ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. รวบรวมผลงานการเดินหน้านโยบาย ‘30 บาทอัปเกรด’ Quick Win 100 วัน ของ ‘หมอชลน่าน’ พร้อมเผยแพร่ผ่าน ‘จุลสาร @MOPH ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน พ.ย. 66’ 


เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เผยแพร่ จุลสาร @MOPH ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 : พ.ย. 2566 โดยหนึ่งในเนื้อหาของจุลสารที่มีการแผยแพร่ คือ การรวบรวมผลงานความก้าวหน้า Quick Win 100 วัน จำนวน 10 ข้อ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ภายใต้การรับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ตามนโยบาย 30 บาท อัปเกรด ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข

สำหรับรายละเอียด มีดังนี้ 1. โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติ หรือโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ได้มีการจัดประชุมการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 โดยประยุกต์ใช้หลักการโรงพยาบาลชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลไปสู่ความเป็นเลิศ พร้อมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ (SMART Hospital)

2. โรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล โดยได้มีการยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมการแพทย์ทหารอากาศ เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมือง ขนาด 120 เตียง รวมถึงยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) เฉพาะทาง โดยมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ 

รวมถึงได้พัฒนาโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า สังกัดกรมแพทย์ ให้เป็นโรงพยาบาลเขตมีนบุรี ขนาด 60 เตียง โดยตั้งเป้าในเดือน ธ.ค. 2566 นี้ จะเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง (จักษุ หู คอ จมูก) อายุกรรมโรคไต ศัลยกรรมทั่วไป โรคกระดูกและกุมาร พร้อมเปิดบริการฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังได้เปิดโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ ณ อาคาร 8 ชั้น โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ โดยให้บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป เฉพาะทาง 5 สาขาหลัก ได้แก่ ศัลยกรรม ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อายุกรรม กุมารเวชกรรม และสูตินรีเวชกรรม อีกทั้งจะขยายเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 120 เตียง ต่อไป

3. สุขภาพจิต และยาเสพติด จัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ได้มีการจัดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 23 พร้อมมอบนโยบายด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของ สธ. โดยยึดหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย อีกทั้งขณะนี้ได้จัดตั้งมินิธัญญารักษ์แล้ว 46 จังหวัด รวมโรงพยาบาล 76 แห่ง จำนวน 1,333 เตียง เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครบ 77 จังหวัด รวม 7,796 เตียง ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง 755 แห่ง

4. มะเร็งครบวงจร การให้บริการวัคซีน HPV ในหญิงอายุ 11 – 20 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 1 ล้านโดส พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น รณรงค์สร้างภูมิ HPV นักเรียนไทยสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง และ สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง รวมทั้งได้จัดอบรมหลักสูตร Cancer Warriors รุ่นที่ 1 ให้กับแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างทีมต่อสู่โรคมะเร็งในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด

5. สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร มีทีม Care D+ ในหน่วยบริการทุกระดับ บรรจุพยาบาล 3,000 ตำแหน่ง กำหนดตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษ (ซี8) และแพทย์ได้รับการยกเว้นให้รับเงินเดือนระหว่างลาศึกษาต่อ โดยมีการเปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสาธารณะและสังคม (Care D+) เพื่อช่วยสื่อสารดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยมีบุคลากรลงทะเบียนอบรมแล้ว 1 หมื่นคน ซึ่งจะเริ่มอบรมชุดแรก 1,000 คนใน ธ.ค. นี้ และคาดว่าจะครบ 1 หมื่นคนใน เม.ย. 2567

รวมถึงได้ประกาศนโยบายมาตรการความมั่นคงทางการเงิน ‘แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข’ โดยเป็นการร่วมกับธนาคารสินในการช่วยเหลือบุคลาที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) 2 โครงการ คือ โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และ โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ อีกทั้งยังได้เปิดคลินิกสุขภาพทางการเงินในทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทั่วประเทศ

6. สถานชีวาภิบาลจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านและติดเตียง ผู้ป่วยระยะประคับประคองจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยได้จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ วัดท่าประชุม จ.ขอนแก่น (เขตสุขภาพที่ 7) วัดทับคล้อ จ.พิจิตร (เขตสุขภาพที่ 3) วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช (เขตสุขภาพที่ 11) และ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี (เขตสุขภาพที่ 4) โรงพยาบาลสงฆ์ สำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Virtual Hospital มาสนับสนุนการให้บริการ พร้อมทั้งจัดการอบรมถวายความรู้เรื่องการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายให้กับพระคิลานุปัฎฐาก และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทั่วประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ

7. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 เขตสุขภาพ และโรงพยาบาล 200 แห่งทั่วประเทศเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ ในการเตรียมการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ โดยต้นเดือน ม.ค. 2567 ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส จะสามารถรับบริการได้ในโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด โรงพยาบาลเอกชน คลินิกและร้านยาที่ร่วมโครงการ

8. ส่งเสริมการมีบุตร โดยบรรจุเป็นวาระชาติ บูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ป้องกันปัญหาโครงสร้างประชากรวัยแรงงานต่ำ และเตรียมเปิดตัวแคมเปญ Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นโครงการระดับประเทศ

9. เศรษฐกิจสุขภาพ มี Blue Zone (NAN MODELs & CITY MODELs) เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน ซึ่งได้เปิดโครงการ HEALTY CITY MODELs ‘เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายยืน’ ในการสร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ‘หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน’ ผ่านการนำร่องนานโมเดล แห่งแรกที่วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติฯ อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยดำเนินการร่วมกับ 7 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 และขณะนี้มีพื้นที่ชุมชนสุขภาพดีใน จ.น่าน นำร่องครบทั้ง 12 เขต รวม 20 เมือง

10. นักท่องเที่ยวปลอดภัย One Region One Sky Doctor โดยมีการจัดตั้งพื้นที่ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวปลอดภัยทั้งจากอุบัติเหตุและโรคภัยต่างๆ นำร่องที่ จ.ภูเก็ต ‘Safety Phuket Island Sandbox’ ที่ดำเนินการใน 7 เรื่อง คือ ประกาศเป้าหมาย จ.ภูเก็ต ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ให้บริการท่องเที่ยว จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ พัฒนาอาสาฉุกเฉินทางทะเล/อาสาฉุกเฉินชุมชน มีถนนอาหารปลอดภัย คัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ และ Digital Disease Surveullance