ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สื่อต่างประเทศรายงานผลวิจัยในวงการแพทย์สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Lancet Regional Health – Western Pacific โดยระบุว่า ระดับคอเลสตอรอล HDL-C หรือที่เรียกว่าไขมันดีที่สูงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ 

นักวิจัย พบว่า ระดับคอเลสเตอรอล HDL-C ที่สูงเกินกว่าค่าความเหมาะสม มีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับความผิดปกติกับระบบการเผาผลาญแคลอรี่ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน หรือระบบเมตาบอลิซึม อีกทั้งจากการศึกษาและทดลองกับกลุ่มตัวอย่างล่าสุด ก็พบด้วยว่า HDL-C ที่สูง มีความเชื่อมโยงมายังปัญหาภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุด้วย 

ในงานวิจัย ระบุด้วยว่า ได้ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปที่สุขภาพดี 18,668 คน และมีการติดตามผลคอเลสเตอรอลในร่างกาย 6.3 ปี กลุ่มตัวอย่างที่มีค่า HDL-C สูงกว่า 80 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะสมองเสื่อม 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีค่า HDL-C ที่เหมาะสม ซึ่งค่าคอเลสเตอรอล HDL-C ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ในเพศชายควรอยู่ที่ 40-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และในเพศหญิงควรอยู่ระหว่าง 50-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

รวมถึงที่น่าสนใจ คือ  กลุ่มตัวอย่างที่อายุ 75 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 42% เมื่อเทียบกับคนที่มีค่า HDL-C ปกติ และระหว่างที่ทดลองการวิจัยนี้นั้นยังพบอีกว่ามีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม 38 รายในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปีซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงมาก และมีอีก 101 รายในผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเช่นกัน 

อย่าไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า ค่าคอเลสเตอรอล HDL-C ที่สูง หรือไขมันดีที่สูงเกินไปในร่างกาย จะมีผลที่ชัดเจนโดยตรงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนที่ได้อ่านงานวิจัย กล่าวไปในทางเดียวกันว่า เป็นทิศทางที่ดีในการหาคำตอบภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ

ดร.คอเรย์ แบรดลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยแพทย์วาเกลอส มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ และแพทย์โรคหัวใจ กล่าวกับ Medical News Today ว่า โดยพื้นฐานแล้ว คำว่าไขมันดี หรือ ไลโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง (HDL) จะถูกมองว่าดีเพราะช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลออกจากกระแสเลือด และนำกลับไปที่ตับ 

ในทางกลับกัน ไขมันเลว หรือไลโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) จะถูกมองว่าไม่ดี เนื่องจากสามารถสะสมในผนังหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดคราบจุลินทรีย์ แต่ในทางการแพทย์ที่กำลังศึกษากัน คือ HDL ในร่างกายที่มีความแตกต่าง อาจมีผลต่อสุขภาพร่างกาย แพทย์จึงอธิบายกับผู้ป่วยถึงความจำเป็นในการรักษาระดับไขมันให้ 'เป็นกลาง' มากกว่าการให้มีไขมันดีในร่างกายมากเกินไป 

สอดรับกับ ดร.ดีแลน วินท์ นักประสาทวิทยาจากสถาบันสำหรับรักษาและวิจัยโรคเกี่ยวกับสมอง (LRCBH) ลาสเวกัส สหรัฐฯ ที่บอกว่า LDL ถูกมองว่าเป็นไขมันเลว เพราะเป็นคอเลสเตอรอลประเภทหลักที่พบในแผ่นโลหะที่สะสมในผนังหลอดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลจากตับผ่านทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีสิ่งกีดขวางอุดตัน ซึ่งหากค่า LDL สูง จะสัมพันธ์กับโรคขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ 

ขณะที่ HDL ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลจากหลอดเลือดแดงไปยังตับ และลดโอกาสของการก่อตัวของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นไขมันดี แต่ทั้งสองชนิด ก็ต้องมีความสมดุลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ 

ทว่า นักวิจัยและนักวิชาการทั้งสองระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่าระดับคอเลสเตอรอล HDL-C มีผลต่อภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร แต่ค่า HDL-C จะมีผลต่อการทำงานในสมอง และอาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และเพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง 

อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะนำผลการศึกษานี้ไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นเพียงสมมติฐาน ซึ่งจะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของค่า ระดับคอเลสเตอรอล  HDL-C ที่มีผลต่อภาวะสมองและร่างกาย ซึ่งเป็นการเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าผลดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อม 

ที่มา: https://www.medicalnewstoday.com/articles/high-levels-good-cholesterol-may-increase-dementia-risk