ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทบาทหนึ่งของงานวิจัย คือ มีความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการหรือนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เกิดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันแหล่งทุนวิจัยมีหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น แหล่งทุนในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรรม (ววน.) ทุนวิจัยของแต่ละหน่วยงาน ทุนวิจัยจากต่างประเทศ ฯลฯ 

ทว่า ที่ผ่านมาอาจมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการและฐานข้อมูลกลาง เกิดความซ้ำซ้อน ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอาจมีทิศทางที่กระจัดกระจายและพลังความรู้อาจลดทอนลงจากการทำงานแบบแยกส่วนออกจากกัน

1

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงระดมเครือข่ายวิจัยด้านสุขภาพและแหล่งทุนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. เป็นประธานการประชุม พร้อมผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานด้านสุขภาพและวิจัย ตลอดจนแหล่งทุนสำคัญของประเทศ อาทิ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.), ผู้แทนจากสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค (คร.), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ฯลฯ เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 

1

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายคือ การพัฒนากลไกให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้แต่ละเครือข่ายรู้ข้อมูลของกันและกัน เพื่อลดโอกาสของการทำงานที่ทับซ้อน ตลอดจนร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การสร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพและสุขภาพของประชาชน 

ทั้งนี้แหล่งงบประมาณการวิจัยของประเทศ ณ ขณะนี้ มีอยู่หลากหลาย ทั้งจากงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ เอง งบประมาณจากต่างประเทศหรืองบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ที่มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการวิจัยเพื่อผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆ ภายใต้งบวิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Fund: SF) และทุนสนับสนุนงานที่เป็นรากฐานงานวิจัย (Fundamental Fund: FF) รวมถึงงบการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) 

1

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงบด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศได้อย่างมาก ทั้งนี้ในส่วนของ สวรส. มีการบริหารงบประมาณในการทำวิจัย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.งานวิจัยมุ่งเป้าที่เน้นเรื่องการวิจัยเชิงระบบ 2.งานวิจัยเชิงคลินิกที่เป็นโจทย์สำคัญๆ ของประเทศ โดยอาจมีการทำงานร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (PMU) ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นต้น และ 3.การขับเคลื่อนจีโนมิกส์ไทยแลนด์ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งหวังว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้จะเกิดการเชื่อมโยงการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำวิจัยให้กับแต่ละเครือข่าย รวมทั้งสามารถสะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศได้ในเวลาเดียวกัน 

สำหรับการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เห็นประโยชน์ของการทำงานเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อเสริมแรงกันอย่างมีทิศทาง ลดความซ้ำซ้อนของการวิจัย และช่วยกันเติมช่องว่างที่ยังเป็นโจทย์ของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่งบวิจัยในระบบ ววน. แต่รวมถึงงบวิจัยจากทุกแหล่ง ตลอดจนช่วยกัน shape โจทย์วิจัย 

1

4

เพื่อให้มีความน่าจะเป็นของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นควรมีการออกแบบเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลกลาง เพื่อการใช้ประโยชน์และการกำกับติดตามการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งนี้ สกสว. ในฐานะแหล่งทุนสำคัญของประเทศ พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้การบูรณาการเครือข่ายการวิจัยด้านระบบสุขภาพในครั้งนี้ส่งผลต่อการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ในการประชุมได้มีการนำเสนอร่างคำสั่งเรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการ สวรส. ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายการวิจัยด้านระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีประธานกรรมการ สวรส. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ มี ผอ.สวรส. เป็นรองประธานฯ อธิบดีหรือผู้แทนของกรมต่างๆ ใน สธ. และผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านสุขภาพร่วมเป็นกรรมการ 

1

มากไปกว่านั้น คณะอนุกรรมการฯ นี้ อาจมีการพัฒนาและขยายองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ให้ครอบคลุมการทำงานที่กว้างขวางขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีทำหน้าที่ในการวางแนวทางและแผนการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน สนับสนุนการจัดทำคำของบประมาณการวิจัยด้านระบบสุขภาพของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ

5