ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีหน้าที่สนับสนุนเงินให้กับหน่วยบริการ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพคนไทยกว่า 47 ล้านคน ต้องใช้ “งบประมาณเดิม” ไปพลางก่อน แม้ขึ้นปีงบฯ ใหม่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก 

ทว่า มักจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 4 ปี หรือช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งจะมีการยุบสภา เลือกตั้ง รวมถึงฟอร์มรัฐบาลใหม่ และทำให้การจัดทำงบฯ ปีถัดไปยังไม่ถูกประกาศใช้ เพราะต้องรอดำเนินการตามกลไก

ตั้งแต่ ต.ค. 2566 มา หรือปีงบฯ 2567 นี้ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งเช่นกัน ที่ต้องใช้งบฯ ไปพลางก่อน ซึ่งทุกหน่วยงานรัฐจะได้รับจัดสรรงบมาราว 2 ใน 3 หรือ 66.65% จากงบฯ ที่ได้รับทั้งหมดในปี 2566 ในระหว่างที่รองบฯ ปี 2567 ที่คาดว่าจะถูกประกาศใช้เดือน พ.ค. 2567

สำหรับ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ซึ่งให้เกียรติพูดคุยกับ “The Coverage” ถึงการใช้งบฯ ดังกล่าว รวมถึงความมั่นใจของประชาชนในการรับบริการในสถานการณ์นี้ เปิดเผยว่า สปสช. ได้รับการจัดสรรงบฯ พลางก่อนจากสำนักงบประมาณมาทั้งหมด 98,841 ล้านบาท 

อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2566 ยังได้มีมติเห็นชอบ “แผนการเร่งรัดการโอนงบประมาณในระหว่างการใช้งบประมาณไปพลางก่อน ระหว่างที่รอการจัดทำ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” อันเป็นขั้นตอนสำคัญเรียบร้อยแล้วด้วย

“การใช้งบประมาณจำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาทไปพลางก่อนนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบและผ่านการพิจารณาจากบอร์ด สปสช. ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยการพิจารณาจะระบุถึงรายการต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณอย่างชัดเจน บางรายการเป็นการให้งบประมาณแบบ 100% หรือบางรายการก็ให้งบประมาณไปกว่า 60% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเดินหน้าต่อไปได้” เลขาธิการ สปสช. ระบุ

นพ.จเด็จ ขยายความให้เข้าใจง่ายถึงการใช้งบพลางก่อนกว่า 9 หมื่นล้านบาทของ สปสช. ว่า งบฯ ก้อนนี้จะถูกนำไปใช้กับงบเหมาจ่ายรายหัว และเงินเดือนของบุคลากร ซึ่งจะช่วยให้แผนปฏิบัติการการให้บริการสุขภาพประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถทำได้ต่อโดย “ไม่มีสะดุด”

พร้อมกับอธิบายว่า ตามแผนดังกล่าวมีการจัดสัดส่วนและ ปรับเกลี่ยงบฯ พลางก่อน ปี 2566 เพื่อใช้ในรายการบริการทั้งหมด 12 รายการ ประกอบด้วย 1. ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) 6.3 หมื่นล้านบาท (66.65%) 

2. ค่าบริการทางการแพทย์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยเอดส์ (AIDS) 2,664 ล้านบาท (66%) 3. ค่าบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 6,323 ล้านบาท (63%) 4. ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง 635 ล้านบาท (59%) 5. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัยฯ 1,490 ล้าน (100%) 

6. ค่าบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 100 ล้านบาท (53%) 7. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2,356 ล้านบาท (85%) 8. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,075 ล้านบาท (85%) 

9. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูจังหวัด ยังไม่มีการจัดสรร 10. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 174 ล้านบาท (40%) 11. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) 10,850 ล้านบาท (67%) และ 12. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนเป็นค่าเสื่อมราคาของหน่วยบริการ 6,134 ล้านบาท (99%)

จะเห็นได้ว่าภายใต้ 66.65% มีทั้งรายการที่ สปสช. จัดสรรเต็ม 100% และบางรายการอาจจะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยได้รับจัดสรร หรือ 40% หรืออาจยังไม่มีการจัดสรร ทว่า ทุกอย่างมีเหตุผล และมีที่มาเสมอ แต่สิ่งที่แน่นอนคือไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชน โดย นพ.จเด็จ ยืนยันในเรื่องนี้อย่างหนักแน่น

“บางรายการ เช่น งบประมาณสำหรับพื้นที่กันดารและเสี่ยงภัย จำนวน 1,490 ล้านบาท บอร์ด สปสช. ก็อนุมัติให้ทั้งหมด เพราะในพื้นที่โรงพยาบาลต้องบริหารจัดการต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี ก็จะได้มีงบฯ ไปจ่าย แต่บางรายการอาจให้ชะลอไว้ก่อน” นพ.จเด็จ กล่าวเสริม

ในส่วนหลักการโอนงบฯ พลางก่อน เลขาธิการ สปสช. บอกว่า สปสช. ได้เร่งรัดโอนเงินงวดแรกของปีงบฯ 2567 ส่วนที่เป็นค่าบริการผู้ป่วยนอก (OPD) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 25% ของวงเงินที่หน่วยบริการได้รับในปี 2566 ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ต.ค. 2566 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าในกระบวนการปกติด้วย และได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ เป็นการโอนเงินตาม 2 ประกาศ ได้แก่ 1. ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบฯ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ในงบฯ พลางก่อนนี้ ก็ยังมีรายการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย นั่นก็คือ การใช้งบฯ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่ม “สิทธิประโยชน์ใหม่” ที่ไม่เคยมีมาก่อน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรัฐบาล เนื่องจากจำเป็นต้องผ่านการพิจารณา และตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรก่อน 

กระนั้น นพ.จเด็จ บอกว่า สิทธิประโยชน์ที่เรียกได้ว่าใหม่จริงๆ ตามนโยบาย สธ. และรัฐบาล ซึ่งยังต้องรอให้มีการพิจารณาตามขั้นตอน เท่าที่ดูมีเพียงรายการเดียว คือ “การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี” ขณะที่สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การคัดกรองมะเร็ง เป็นชุดสิทธิประโยชน์เดิมอยู่แล้ว เพียงแต่บางรายการอาจมีการขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้สามารถดำเนินการได้ต่อไปได้เลย

“การให้บริการสุขภาพที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่เคยมีอยู่แล้ว รวมถึงแม้เป็นไปตามนโยบายใหม่ แต่เป็นเพียงการขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถดำเนินการได้จากงบฯ ที่ใช้ไปพลางก่อน ตามที่ได้จัดสรรไป ซึ่งจะทำให้การให้บริการสุขภาพเป็นไปตามปกติ ไม่มีผลกระทบทั้งต่อประชาชนที่ไปรับบริการ และหน่วยบริการ” นพ.จเด็จ ระบุ

นพ.จเด็จ ยกตัวอย่างว่า สิทธิประโยชน์การฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่แต่เดิมให้กลุ่มอายุตั้งแต่ 12-17 ปี แต่ล่าสุดขยายขอบเขตกลุ่มเป้าหมายเป็นอายุ 10-20 ปี และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 1 ล้านคน ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณในการจัดการ แต่วัคซีน HPV ที่ได้รับบริจาคมาก็เกือบครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดแล้ว ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก และทำให้โครงการเดินหน้าได้ต่อได้อย่างดี

นอกจากนี้ กรณีอย่างนโยบายสถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สปสช. ก็มีชุดสิทธิประโยชน์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านซึ่งเป็นรากเดิมอยู่แล้ว บอร์ด สปสช. ก็จะพิจารณางบประมาณ เพื่อขยับไปสู่การขยายบริการไปสู่การดูแลระยะท้ายตามนโยบายของรัฐบาล

ทว่า แม้จะเป็นการขยายความครอบคลุมจากสิทธิประโยชน์เดิม ก็อาจมีผลกระทบต่อการใช้งบฯ ได้เช่นกัน ดังนั้นทางบอร์ด สปสช. จะมีการวางแผน โดยถ้าต้องใช้งบฯ มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็ต้องบริหารจัดการงบฯ ที่มีอยู่ให้ลงตัว แต่โดยรวมทั้งหมด นพ.จเด็จ บอกว่า การบริหารจัดการงบประมาณส่วนนี้ไม่น่ามีปัญหา และจะสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“ล่าสุดที่บอร์ด สปสช. ได้ประชุม นพ.ชลน่าน ก็ให้นโยบายว่า สิทธิประโยชน์ใดที่มีรากเดิมอยู่แล้ว ก็ให้เดินหน้าไปได้ หรือจะขยายต่อก็ทำได้เลย อีกทั้ง เดือน พ.ย.นี้ จะมีการเสนอบอร์ด สปสช. เกี่ยวกับรายการบริการสุขภาพ ที่ต้องอนุมัติเพิ่มเติม ซึ่งบอร์ดก็จะได้พิจารณาถึงงบประมาณร่วมกันอีกครั้ง” นพ.จเด็จ กล่าวเสริม

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 ที่เป็นวันสิ้นปีงบฯ ได้หารือกับบอร์ด สปสช. ในการดูว่างบฯ กองทุนบัตรทอง ปี 2566 ยังเหลืออยู่หรือไม่ หากเหลือก็จะนำมาขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลได้ทันที เพราะเป็นงบฯ ที่ไม่มีภาระ ซึ่งหากอยากทำงานก่อน ก็จะพิจารณาใช้เงินที่เหลือจากปีงบฯ ดำเนินการต่อได้

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอยู่ที่บอร์ด สปสช. จะพิจารณาว่าจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการงบในกองทุนได้หรือไม่ หรืออาจใช้เป็นแนวทางกรณีที่ต้องรอการพิจารณางบฯ รายจ่ายประจำปี เพื่อให้งานได้เดินหน้าต่อ เหมือนกับในปัจจุบันที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก 

นพ.จเด็จ ย้ำอีกครั้งในตอนท้ายเพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า การใช้งบฯ พลางก่อนนั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการให้บริการสุขภาพกับประชาชน ทุกคนที่รับบริการดูแลรักษาภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท และประชาชนทุกสิทธิ์รักษาที่จะใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มั่นใจได้ว่าสามารถรับบริการได้เหมือนเดิม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น