ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win ยุคการเปลี่ยนผ่าน ในหัวข้อ “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) จากทั่วประเทศเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 900 คน

นพ.ชลน่าน ขึ้นกล่าวกับ สสอ. ทั่วประเทศ ว่า สสอ. เป็นอีกหน่วยในระบบสาธารณสุข ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และเป็นโอกาสอันดีอย่างมากที่ได้มาสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลประชาชน สสอ. จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win ของ สธ. เพื่อเชื่อมไปยังการดูแลสุขภาพในภาพรวมของประเทศ ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

สำหรับแผนการดำเนินการปฏิบัติการ Quick Win ของ สธ. ทั้ง 13 ข้อ ที่ประกาศขับเคลื่อนไปแล้ว ซึ่งระบุว่าต้องมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งบางอย่าง อาจไม่จำเป็นต้องเป็นรูปธรรม แต่หากขับเคลื่อนแล้วได้กระบวนการ วิธีการใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในภาพใหญ่ของประเทศ สิ่งนั้นก็คือผลสำเร็จตามนโยบาย Quick Win เช่นกัน

เป้าหมายในนโยบายทั้ง 13 ข้อของ สธ. ถูกวางทิศทางในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่าง 'ทุกมิติ' ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพปัญญา และสุขภาพสังคม ซึ่งสุขภาพสังคม มีส่วนอย่างมากในการเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพของประชาชน และคนที่จะดูแลสุขภาพสังคมได้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ก็คือ สสอ. โดยเฉพาะกับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ

"สสอ. ทำหน้าที่ร่วมดูแล กำกับการให้บริการสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่ ก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป้าหมาย 13 ข้อของ สธ. ต้องอาศัย สสอ. ในการช่วยขับเคลื่อน เพราะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และผมเชื่อว่าจะทำได้ดีด้วย เพราะจากผลงานที่ผ่านมา รวมไปถึงบทบาทในขณะนี้ ที่หลายพื้นที่ สสอ. ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิให้กับประชาชน" รมว.สธ. กล่าว

ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ สสอ. ต้องการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก เพื่อช่วยป้องกันโรคใหักับพื้นที่ เมื่อลงมือก็ได้ความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในพื้นที่ ภาคส่วนราชการท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานราชการจากส่วนกลางที่ประจำพื้นที่ ก็เข้าร่วมออกแรงมาช่วยกันรณรงค์ และป้องกัน เพื่อให้สุขภาพของคนในพื้นที่ไม่มีปัญหา ซึ่งทั้งหมดเกิดจากฐานคิดของ สสอ. ที่แม้ว่าจะไม่มีกำลัง แต่มีแนวคิด และสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้มาร่วมงานสาธารณสุขด้วยกัน

นพ.ชลน่าน ย้ำด้วยว่า หากไม่เปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือแนวคิดใหม่ๆ แน่นอนว่า ก็ไม่มีทางที่จะได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม แต่ในเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง และสังคมเองยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนต่อสุขภาพของประชาชน สสอ. เองก็ต้องปรับตัว เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข ซึ่งเชื่อว่า สสอ. ก็พร้อม

อีกทั้ง ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเป็นความท้าทายสำหรับงานสาธารณสุข และการบริการสุขภาพ เพราะในอนาคตโรคจะไม่เกิดเพราะเชื้อโรคอย่างเดียว แต่จะมีปัจจัยอื่นทางสังคม เช่น ความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลมายังสุขภาพกาย ใจ และสุขภาพของสติปัญญา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง สสอ. เองก็ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลาด้วยเช่นกัน เพื่อหาทางป้องกันและยับยั้งผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว ที่จะส่งผลมายังเรื่องของสุขภาพ

2 ตัวแดงที่ก้าวไม่ผ่าน 'วัณโรค-อุบัติเหตุจราจร'

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงการยกย่องจากเวทีระดับโลก ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยเฉพาะการบริหารจัดการเมื่อเจอกับสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพ หรือภาวะคุกคามด้านสุขภาพต่างๆ ประเทศไทยสามารถจัดการได้ทั้งหมด ส่งผลทำให้เป็นอีกประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับสูงของโลก

แต่ทั้งนี้ หากมีการจัดการได้ดีกว่านี้อีก ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ของโลกที่มีระบบบริการสุขภาพดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรายังติดอยู่ 2 เรื่องที่ไม่สามารถก้าวข้ามตัวชี้วัดเพื่อยกระดับสาธารณสุขของประเทศได้ นั่นคือ 1. วัณโรค และ 2. อุบัติเหตุทางถนน

นพ.ชลน่าน ขยายความว่า วัณโรคเป็นปัญหาที่ประเทศไทยยังคงเผชิญอยู่ แต่โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งก็พยายามค้นหา และคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเต็มที่ เพื่อนำเข้าสู่การรักษาพร้อมกับป้องกันโรคไปในเวลาเดียวกัน ซึ่ง สธ. เองก็ต้องพยายามแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายว่า จะควบคุมวัณโรคได้ในปี 2573 โดยให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

นอกจากนี้ ในส่วนอุบัติเหตุทางถนน ประเทศไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตอยู่จำนวนมาก เฉลี่ยแล้วเสียชีวิตเดือนละกว่า 1,000 คน หรือปีละกว่า 1.4 หมื่นคน ซึ่งในส่วน สธ. เองไม่ต้องการให้มีการตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล ทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ เพราะเป็นการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไม่ช่วยอะไร พอหมดช่วงเทศกาลแล้วการรณรงค์ก็หมดไป

อย่างไรก็ตาม สธ. ต้องการให้เกิดวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจาณาเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ต้องถึงโรงพยาบาลใน 8 นาที ซึ่งเคยมีแนวคิดแบบนี้ แต่ช่วงนั้นวิเคราะห์กันดูแล้วอาจจะยังทำไม่ได้ จึงขับเคลื่อนเรื่อง Sky Doctor ก่อน เพื่อนำส่งผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด

ปชช. ไป รพ.สต. น้อยลง โผล่ รพช. มากขึ้น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ในขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน สสอ. ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ก็อยากให้มาร่วมวงช่วยกันคิด ว่าจะดูแลประชาชนโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงได้อย่างไร รวมไปถึงในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกับคนที่ไปแล้วและอยากกลับมา หรือที่ไม่อยากไปแล้ว ก็จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งตนเอง วางเป้าหมายเรื่องนี้คือ ประชาชนต้องไม่เดือดร้อน และบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ สสอ. ก็ต้องไม่เดือดร้อนเช่นกัน

"แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ก็เข้าใจดีว่ามีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ทั้งอยากไป ไม่อยากไป และยังชั่งใจว่าจะไปหรือไม่ไป เพราะกลัวผลกระทบตกกับประชาชน แต่สำหรับผม ทั้งหมดเป็นหน้าที่ที่ต้องหาทางออก และพูดคุยกับหน่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน โดยเฉพาะกับการเข้าไปคุยกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จะออกกติกากันอย่างไร ยอมรับกันอย่างไร และ สธ. เองก็มีข้อเสนอของเราเองที่อยากจะยื่นให้กับ ก.ก.ถ. ได้พิจารณา ซึ่งควรจะต้องพิจารณาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนจะเดือดร้อนจากการรับบริการสาธารณสุข" นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในส่วนคนที่ตัดสินใจไปแล้ว แต่อยากกลับมา สธ. ก็พยายามหาทาง ซึ่งข้อเสนอที่เห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุด และดีที่สุด คือให้ช่วยราชการไปก่อน 1 ปี และต่ออายุการช่วยราชการได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ทำงานที่เก่า บรรยากาศเดิม เงินเดือน-สวัสดิการก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งแนวทางนี้จะลดผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องรับบริการ รวมถึงตัวบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็ต้องถามกลับไปยังบุคลากรทางการแพทย์เช่นกันว่า อย่างนี้ถูกใจหรือไม่

"ผมไม่อยากให้ใครมองว่า มาแย่งงานกันทำ สธ. ไม่ยอมปล่อย รพ.สต. ไม่ยอมให้คนไป แถมยังเอางานไปอีก เสียงสะท้อนต่างๆ ผมได้ยินและรับรู้ทั้งหมด แต่ สธ. เองก็มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพของประชาชน มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องทำงาน เพื่อให้ทั้งประชาชนไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เดือดร้อน" รมว.สธ. กล่าว

นพ.ชลน่าน ย้ำอีกว่า ขณะนี้มี รพ.สต. ที่ต้องการถ่ายโอนไปประมาณ 4,000 แห่ง ซึ่งก็คิดเป็น 40% ของทั้งหมด แต่ที่พบคือการให้บริการของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้ว พบว่าประชาชนไปใช้บริการลดน้อยลง แต่ตัวเลขการเข้ารับบริการโรงพยาบาลชุมชนกลับพุ่งสูงขึ้น ก็ต้องนำมาพิจารณาว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านของการถ่ายโอน รพ.สต. นี้ มีรอยต่อที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการกับประชาชนหรือไม่

นพ.ชลน่าน กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า เจ้าหน้าที่ สสอ. ที่เกษียณไปแล้ว แต่อยากทำงานเพื่อช่วยระบบบริการสุขภาพต่อ ก็มีหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่อบรมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวระยะสั้น เพื่อสามารถใช้ไปสอบขอเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคอยช่วยเหลืองานสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ได้ รวมถึงแพทย์ที่เกษียณไปแล้วเช่นกัน สธ. อาจจะต้องเป็นรายชั่วโมง หรือตามที่บุคลากรสะดวกในการทำงาน ก็จะเป็นการเติมเต็มคนทำงานในระบบให้ดียิ่งขึ้น

"เป็นแนวคิดของผมเอง แต่ผมเชื่อว่า สสอ. ทำได้ หรือแม้แต่แพทย์ที่เกษียณไปแล้ว แต่อยากมาช่วยงานบริการปฐมภูมิก็ยินดี เพราะจะทำให้ระบบริการปฐมภูมิในอนาคต จะได้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคอยดูแลรักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพในกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพครบและครอบคลุมทุกพื้นที่" รมว.สธ. กล่าวตอนท้าย