ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สภาผู้บริโภค’ ค้าน ‘หมอชลน่าน’ ตั้ง ‘Provider Board’ กำกับ ‘บัตรทอง’ ฝ่ายเดียว แนะ หากเดินหน้าต่อ ควรตั้ง ‘Consumer Board’ สำหรับภาค ปชช. ด้วย เพื่อให้ภาค ปชช. มีส่วนร่วมในกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ


จากกรณีการหารือของ 5 เครือข่ายสถาบันการแพทย์ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เข้าร่วมด้วย และได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะเดินหน้าดำเนินการตั้งเครือข่ายโรงพยาบาล (Provider Board) สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการให้บริการ โดยได้มอบให้ สปสช. ยกร่างให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พร้อมขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย สปสช. เสนอเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณา 

ล่าสุด สภาผู้บริโภค เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะต้องยึดถือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ คือ ประชาชน ซึ่งสะท้อนได้จากบอร์ด สปสช. ที่กำกับคุณภาพและมาตรฐานของบัตรทองในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงท้องถิ่น มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ถึงแม้สัดส่วนประชาชนจะจำกัดและน้อยกว่า แต่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการเฝ้าระวังและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดังนั้น สภาผู้บริโภค จึงขอคัดค้านการจัดตั้ง Provider Board ที่ไม่ควรจัดตั้งผ่าน บอร์ด สปสช. เพราะอาจขัดหลักการและผิดเจตนารมณ์ของระบบบัตรทอง รวมถึงอาจทำให้ระบบการรักษาสุขภาพดังกล่าวถูกภาครัฐกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีเสียงของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ

ทั้งนี้ หากต้องการเดินหน้าจัดตั้ง Provider Board จะต้องจัดตั้งบอร์ดผู้รับบริการ (Consumer Board) ที่เป็นของภาคประชาชนด้วย โดยจะต้องจัดตั้งผ่าน สธ. โดยตรง เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพของประเทศไทย