ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ชลน่าน’ ย้ำ การถ่ายโอน ระดับผู้บริหารต้องคุยกันให้ชัดเจน เตรียมหารือ ก.ก.ถ. ขอความเห็นการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน รองรับการดูแลประชาชน สำหรับบุคลากรไม่ประสงค์ถ่ายโอน มี 3 แนวทางรองรับ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win แผนปฏิบัติการเร่งรัดยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” ตอนหนึ่งว่า สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะมีทั้งผู้ที่ประสงค์ถ่ายโอนและไม่ได้ถ่ายโอน สิ่งที่สำคัญคือต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการถ่ายโอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ได้ร่วมกับ รพ.สต. หรือบุคลากรที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอนช่วยกันคิดสิ่งที่เรียกว่า “Health Station” เข้ามารองรับการให้บริการประชาชนในเบื้องต้น ผ่านการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย และเก็บข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ เชื่อมต่อโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการวางระบบดูแลบุคลากรที่มีสิทธิเลือกว่าจะถ่ายโอนหรือไม่

อย่างไรก็ดี จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ แนวทาง ขั้นตอนการกระจายอำนาจที่เป็นไปตามกฎหมายเพื่อขอความเห็นในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น ยังมี รพ.สต. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน ซึ่งยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะบุคลากรที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน แต่ รพ.สต. ต้องการถ่ายโอน จะมีมาตรการรองรับอย่างไร

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการกระจายอำนาจได้เขียนเอาไว้ 3 แนวทางสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน ได้แก่ 1. ให้ สธ. หารือเกลี่ยตำแหน่งรองรับ ซึ่งส่วนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ 2. เข้าสู่กระบวนการเกษียณอายุก่อนกำหนด หากครบตามหลักเกณฑ์และกระบวนการ และ 3. การเลือกช่วยปฏิบัติราชการ ในกรณียังไม่มีตำแหน่งรองและไม่ประสงค์ถ่ายโอนแต่ประสงค์ที่จะทำงาน โดยสามารถช่วยราชการในตำแหน่งเดิม ที่เดิมได้ 1 ปี และสามารถขยายต่อได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

“การกระจายอำนาจในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องสิ้นสุดเมื่อไหร่ เป็นการกระจายภารกิจ กระจายคน กระจายเงิน กระจายตำแหน่ง ไปให้กับ อบจ. แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักเกณฑ์และหลักการของการกระจายอำนาจอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจของบุคลากรด้วย ฉะนั้นคำว่าสมัครใจจึงเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องทำมาตรการรองรับ” นพ.ชลน่าน ระบุ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริหารจะต้องคุยกันให้ชัด อย่าให้ระดับปฏิบัติการ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้รับผลกระทบ เพราะหลักการกระจายอำนาจที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าจะเป็นคำตอบที่ดีให้แก่ประชาชน ส่วนกลไก และกระบวนการก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย บนพื้นฐานการหาแนวทางการมีส่วนร่วม ให้มากที่สุด และมีเป้าหมายเดียวกันว่าต้องกระจายอำนาจให้สำเร็จบนความพร้อมและสมัครใจ ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านต้องมีการพูดคุยกันชัดเจน