ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เยี่ยมชมการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate Care: IMC) หลังพ้นวิกฤติ โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น จ.นครปฐม ด้วยการแพทย์ผสมผสาน แพทย์แผนไทย-แพทย์แผนจีน พบ 90% กลับไปชีวิตใกล้เคียงปกติ พร้อมให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุง ยืม-คืนกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและมีภาวะพึ่งพิง 


เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการเขต สปสช. เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate Care: IMC) ณ โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมี นพ.วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม (สสจ.) นพ.วทัญญู ตั้งศิริอำนวย นายแพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลนครปฐม นพ.ยุทธกานต์ ชินโสตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บุคลากรแพทย์ ให้การต้อนรับ

สำหรับการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate Care: IMC) เป็นการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกพ้นวิกฤติและมีอาการคงที่ แต่ยังมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วน หรือยังมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ด้วยการแพทย์ผสมผสานที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทีมสหวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง จนครบระยะ 6 เดือนพ้นระยะวิกฤติ (Golden Period) 

1

นพ.ยุทธกรานต์ เปิดเผยว่า สำหรับศูนย์ IMC เป็นการจัดบริการตาม Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก 2. สมองบาดเจ็บหรือได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ 3. บาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุ และ 4.ผ่าตัดกระดูกข้อสะโพกหัก โดยให้บริการการฟื้นฟูแบบเข้มข้นในลักษณะของผู้ป่วยใน (IPD) ด้วยศาสตร์ผสมผสานจากแพทย์แผนตะวันตก แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ใช้ระยะเวลาการรับรักษาประมาณ 3 สัปดาห์ รวมไปถึงยังมีการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี สำหรับการแพทย์ผสมผสานจะให้บริการตั้งแต่นักกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การฝึกพูด ฝึกกลืน สำหรับแพทย์แผนไทยจะให้บริการ นวด ดึง รักษาอาการท้องผูก ข้อติด เป็นต้น ส่วนการแพทย์แผนจีนก็จะมีการฝังเข็มร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังที่จะเป็นกลุ่มอายุค่อนข้างน้อยก็จะมีกระบวนการการฝึกดำรงชีวิตอิสระโดยกลุ่มคนพิการที่มีประสบการณ์ตรง และผ่านการฝึกอบรม ให้คำปรึกษาเพื่อให้ก้าวข้ามผ่านความพิการ และกลับมาใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้ ซึ่งจากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับบริการต่อปีประมาณ 130 ราย ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก โดยจะมีการติดตามประสิทธิภาพในการฟื้นฟู โดย 90% ของผู้ที่เข้ารับบริการทั้งหมดแบบเข้มข้นสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ 

2

“ที่นี่มีอุปกรณ์ให้ยืม ผ่านกองทุนที่สนับสนุนโดย สปสช. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นในผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลันที่ต้องการฟื้นฟู และผู้ป่วยที่ดูแลระยะยาว ซึ่งก็ตั้งเป็นธนาคารยืมคืนอุปกรณ์ เช่น เตียงลม อุปกรณ์ช่วยการเดิน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยนำกลับไปใช้ที่ได้บ้าน” นพ.ยุทธกรานต์ กล่าว

นายรัฐการ พรรณพัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม (อบจ.) กล่าวว่า ขณะนี้ อบจ.นครปฐม ภายใต้การนำของ นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นกยก อบจ.นครปฐม ก็ได้มีการเข้าไปซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านผู้ป่วย หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปแล้วประมาณ 5 หลัง โดยใช้งบประมาณจากท้องถิ่นในการดูแล 

นอกจากนี้ ในส่วนของกายอุปกรณ์ก็ได้มีการสนับสนุนงบประมาณที่ทาง อบจ. ร่วมกับ สปสช. ลงไปดูแล โดยให้องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ในแต่ละพื้นที่สำรวจและทำเรื่องขอเบิกงบประมาณได้ โดยในขณะนี้กำลังจะทำความตกลงร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ เพื่อนำนักศึกษาเข้ามาช่วยเรื่องของการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่อาจจะชำรุดได้ 

3

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง หรือ IMC และมีความโดดเด่นเรื่องการบูรณาการจากหลายส่วน เช่น เมื่อได้รับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจังหวัดก็จะมีการให้บริการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน นอกเหนือจากการทำกายภาพบำบัด รวมถึงยังมีการแนะนำเรื่องการประกอบอาชีพของผู้ป่วยอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ลงพื้นที่มาในวันนี้ สปสช. อาจจะต้องกลับไปปรับปรุงดูความเป็นไปได้ว่านอกเหนือจากการให้บริการกายภาพบำบัดแล้ว จะสามารถเพิ่มเรื่องการดูแลโดยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ฯลฯ เข้ามาได้หรือไม่ เพราะ สปสช. มีกลไกตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่คิดว่าจะปรับกลไกทางการเงินเพื่อเสริมเข้าไป เช่น เดิมเรื่องของหมอนวดที่อาจจะยังไม่ชัดเจน โดยในปีหน้าก็จะทำให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น

“ถ้าฟังจากที่ผู้อำนวยการเล่าว่าบูรณาการจากหลายแห่ง มีการรับผู้ป่วยจากนอกจังหวัดด้วย ตรงนี้ก็จะสนองนโยบายของรัฐบาลเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวสามารถรับบริการที่ไหนก็ได้ คิดว่าถ้ามีความเป็นไปได้ และโรงพยาบาลมีความพร้อมและพอใจในการให้บริการกับค่าตอบแทนที่ สปสช. ให้ โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะขยายงานตรงนี้ลงไปในพื้นที่ต่างๆ ได้” นพ.จเด็จ กล่าว 

3