ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการด้านสังคม ระบุ รัฐต้องอุดช่องโหว่นายจ้างเลิกจ้างหญิงท้อง-สนับสนุนศูนย์เด็กเล็ก ขยายเวลาเปิดปิดรองรับแรงงาน ตั้งศูนย์ฯ ในโรงงานหรือชุมชน-นำแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม 


ผศ.สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ยังมีแรงงานบางส่วนที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะตั้งท้อง เนื่องจากอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งที่กฎหมายระบุไว้ว่าห้ามเลิกจ้าง แต่การบังคับใช้ยังมีช่องโหว่ ฉะนั้นรัฐต้องเข้มงวดเรื่องกฎหมาย ห้ามนายจ้างเลิกจ้างแรงงานที่ท้อง

ทั้งนี้ แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แม้จะมีเวลาลาคลอด 3 เดือน แต่ปัญหาค่าแรงที่ต่ำทำให้บางคนไม่สามารถลาได้ตลอดทั้ง 3 เดือน เพราะต้องกลับมาทำงานเพราะเงินไม่พอ ยังไม่นับรวมแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน ไม่มีวันลาคลอด ไม่มีเงินเบิกจ่ายค่าคลอด หากมีลูกก็อาจจะต้องลาออกจากงาน หรือต้องเลี้ยงไปทำงานไปไม่สามารถหยุดงานได้ ฉะนั้นจึงต้องทำให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเพื่อให้สิทธิ์ในการลาคลอด หรือได้เงินเหมาจ่ายค่าทำคลอด

“90 วันคือเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคม แต่แรงงานนอกระบบไม่มีสิทธิเหล่านี้ จะเอาลูกไปฝากเลี้ยงก็ไม่รู้จะฝากกับใคร เพราะสถานเลี้ยงเด็กของรัฐรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไป ปิดเปิดแบบราชการ เปิดสาย เลิกเร็ว หยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ฉะนั้นแรงงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถเอาลูกไปฝากได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว” ผศ.สุนี ระบุ 

ผศ.สุนี กล่าวต่อไปว่า สถานดูแลเด็กหรือศูนย์เด็กของรัฐไม่รับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เปิด-ปิดในเวลาราชการ หากไม่มีคนในครอบครัวช่วยเลี้ยงก็จะต้องจ้างคนเลี้ยงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงหากต้องส่งลูกกลับไปให้คนในครอบครัวเลี้ยงก็ต้องมั่นใจว่ามีเงินเพียงพอที่จะดูแลทั้งลูก และคนในครอบครัวได้ ฉะนั้นจึงเป็นภาระซ้อนจนทำให้คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่มีลูก 

ขณะนี้โรงงานที่มีศูนย์เด็กเล็กอยู่ภายใน หรือการสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในชุมชนใกล้โรงงานยังมีน้อย เพราะส่วนหนึ่งคนยังต้องทำงานเป็นกะไม่มีเวลาราชการ ฉะนั้นศูนย์เด็กเล็กของรัฐจึงต้องขยายตัว และสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กที่อาจจะเป็นของภาคเอกชนเพื่อให้รับลูกของคนงานที่ต้องทำงานไม่ใช่เวลาราชการ หากไม่อุดช่องโหว่ตรงนี้เท่ากับไม่มีสวัสดิการของคนทำงานในทุกระบบ

สำหรับศูนย์เด็กเล็กที่รัฐสนับสนุน รองรับเด็กประมาณ 2.3 ล้านคน ขณะที่มีเด็กอายุ 0-6 ปีทั้งหมดอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน ยังมีเด็กประมาณ 2 ล้านคนไม่มีที่อยู่และอาจจะต้องถูกส่งไปตามยถากรรม หากยากจนก็อาจจะต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์ หรือมูลนิธิ ฯลฯ รวมถึงแม่บางคนต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก ขาดรายได้ แต่ต้องยอมเพราะไม่มีคนเลี้ยง ซึ่งรัฐต้องตอบคำถามและสนับสนุนคนเหล่านี้ให้ได้ 

อย่างไรก็ดี มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนเงินอุดหนุนเด็กเล็กจากระบบลงทะเบียนเป็นถ้วนหน้า และเพิ่มเงินจากเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 3,000 บาท เพื่อให้พอจ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องศูนย์เด็กนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้การเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพที่ดีให้พ่อแม่สามารถกลับไปทำงานได้ แต่รัฐมองว่าเงินที่นำมาใช้กับสวัสดิการทางสังคมไม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งที่ความเป็นจริงเงินที่ได้ก็นำกลับมาซื้อของ ซื้อนม ฯลฯ ฉะนั้นเงินที่ให้กับเด็กไม่ได้ไปไหน แต่กลับมาช่วยหมุนเวียนทำให้เศรษฐกิจเติบโต

“เห็นได้ชัดที่สุดว่าคนงานเป็นข้อต่อสำคัญในการเลี้ยงลูกและพ่อแม่ แต่ว่าสวัสดิการของแรงงานไม่ได้รับรองต่อการทำให้มีลูกที่ได้อย่างดีพอ และความรับผิดชอบของเขาไม่สามารถปล่อยให้มีและปล่อยตามยถากรรมได้” ผศ.สุนี กล่าว