ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์-แรงงาน เผย 'ชนชั้นกลาง-คนรุ่นใหม่' มองสังคมไม่พร้อมมากกว่าเรื่องสวัสดิการ ทำให้เลือกมีคู่แต่ไม่มีลูก ชี้เพิ่มรายได้-ส่งเสริมเด็กเล็กช่วยได้แต่ไม่ทั้งหมด รัฐบาลต้องแก้ปัญหาแบบภาพรวมทั้งประเทศ 


รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์การเมืองและแรงงาน วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า อัตราการเกิดน้อยของประชากรไทยในปัจจุบัน เป็นปัญหาสะสมมาหลายปี หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างครอบคลุม จะทำให้อนาคตโครงสร้างประชากรในกลุ่มแรงงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การบริการ พนักงานเอกชน และข้าราชการ ลดน้อยลง เพราะไม่มีการทดแทนแรงงานที่หายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในทันที 

นอกจากนี้ เงินภาษีที่จัดเก็บเพื่อนำไปบริหารและพัฒนาประเทศก็จะลดน้อยลงตามไป ซึ่งในภาพรวมจะมีผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาประเทศในทุกด้าน กระนั้นไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาคแรงงานลดลงในอนาคต แต่ประเทศอื่นๆ ก็จะประสบปัญหาที่ลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะกับประเทศที่ต้องใช้ภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ  

รศ.ดร.นภาพร กล่าวอีกว่า ในส่วนสาเหตุของปัญหา มีการศึกษาพบว่า ปัจจุบันสังคมชนชั้นกลาง รวมถึงคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่แต่งงานแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก และเหตุผลก็ไม่ใช่ปัจจัยด้านสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐจะมอบ หรือเกื้อหนุนเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการมีบุตรในอนาคต แต่คือปัจจัยทางสังคมทุกมิติ เพราะภาพรวมของสังคมในปัจจุบัน อาจถูกมองว่าไม่มีความปลอดภัย รวมไปถึงระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันสูง ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจจะมีลูก เพื่อให้มาเจอกับสังคมเหมือนปัจจุบัน 

รศ.ดร.นภาพร กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลสามารถใช้ระบบสวัสดิการกระตุ้นในภาคส่วนแรงงานให้อยากมีลูกได้ ทั้งการเพิ่มรายได้ หรือมีสวัสดิการเด็กเล็กที่เหมาะสมและครอบคลุม แต่ก็จะช่วยได้ในส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไปที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ หรือคนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน ไม่ได้มองเรื่องสวัสดิการในประเด็นความพร้อมของการมีลูก แต่มองถึงความไม่พร้อมทางสังคมมากกว่า 

"การแก้ปัญหาจำเป็นต้องแก้ครบวงจร ที่ต้องทำให้สังคมน่าอยู่กว่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูก เพราะบางส่วนของประชาชนก็มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ แต่สังคมไม่ได้น่าอยู่ ไม่อยากให้ลูกต้องมาใช้ชีวิตกับสังคมแบบนี้" รศ.ดร.นภาพร กล่าว