ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ฉายภาพถึงสถานการณ์ ‘อนามัยเจริญพันธุ์’ ของคนไทยในปี 2565 ที่พบว่าตลอดช่วงปีดังกล่าว มีเด็กทารกที่เกิดมาในประเทศไทย (เกิดมาพร้อมเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก) รวมทั้งสิ้น 485,085 คน

หากมองในรายละเอียดเพื่อทำการวิเคราะห์ จะพบว่ากลุ่มที่อยู่ในช่วงเวลาเหมาะสมทางการแพทย์ที่พร้อมให้การคลอดบุตร คือ หญิงอายุระหว่าง 20-34 ปี มีทั้งหมด 6.7 ล้านคน ในกลุ่มนี้ให้การคลอดบุตรไปจำนวน 352,721 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่ 52.5 คนต่อ 1,000 ประชากร

ขยับขึ้นมาที่ หญิงอายุระหว่าง 35-39 ปี มีทั้งหมด 12.7 ล้านคน ในกลุ่มนี้ให้การคลอดบุตรไปจำนวน 89,692 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่ 7.0 คนต่อ 1,000 ประชากร ขณะที่เมื่อมองลงไปยังกลุ่ม หญิงอายุระหว่าง 10-14 ปี มีทั้งหมด 1.89 ล้านคน ในกลุ่มนี้ให้การคลอดบุตรจำนวน 1,569 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่ 0.8 คน ต่อ 1,000 ประชากร

เพื่อขยายภาพมากขึ้นในกลุ่มหญิงที่เป็นเด็กและเยาวชน หรือ ‘แม่วัยใส’ ซึ่งเป็นหญิงอายุระหว่าง 10-19 ปี ในกลุ่มนี้เป็นผู้ให้กำเนิดทารกรวมทั้งหมด 42,457 คน หรือคิดเป็นเจ้าของสัดส่วน 8.8% จากจำนวนการคลอดบุตรทั้งประเทศ 485,085 คน ในปี 2565

ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้กำลังสะท้อนภาพว่า แม้จำนวนการเกิดของประชากรไทยจะยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังเผชิญกับปัญหาการท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นและเยาวชนไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของแม่วัยใส และทารกน้อยที่อาจไม่มีคุณภาพชีวิตดีพอ เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม

แม้ เกิดน้อย แต่ต้องไม่ ด้อยคุณภาพ

ความเห็นจาก ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าวกับ “The Coverage” ว่าในขณะที่สังคมกำลังคาดหวังจำนวนการตั้งครรภ์ จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ต้องการให้มีมากขึ้น เพราะเกรงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต หากในขณะเดียวกันทางหน่วยงานมองว่าการเกิดนั้นจะต้อง ‘มีคุณภาพ’ ด้วย ทั้งคุณภาพในด้านการเลี้ยงดูทารก ความพร้อมของพ่อแม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนครอบครัว

“ความพร้อมของหญิง-ชาย สำคัญอย่างมากต่อการให้กำเนิดลูก ลองนึกภาพตามว่าหากยังเรียนกันอยู่ เด็กวัยรุ่นที่เป็นแฟนกันแต่เกิดตั้งท้องขึ้นมา อนาคตของทั้งคู่และของเด็กที่เกิดขึ้นมาจะแตกต่างไปเลย แม้ว่าบ้านจะรวยแค่ไหนก็ตาม" เขาให้ภาพ

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ขยายความว่า พ่อแม่วัยรุ่นจะมีปัญหาในด้านการใช้ ‘วุฒิภาวะ’ ในการเลี้ยงดูลูก เนื่องจากความอดทนและความตั้งใจที่เลี้ยงลูก อาจไม่เท่ากับคนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่กว่า ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของฐานะ แต่เป็นความพร้อมของวุฒิภาวะ หรือลองนึกภาพตามว่าพ่อแม่วัยใสจะทนได้หรือไม่ หากต้องตื่นกลางดึกเพื่อมาดูแลลูกที่ร้องไห้ หรือการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงลูก

“แม้ว่าเด็กทารกที่เกิดมาจากแม่วัยรุ่น จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามปกติ เมื่อเทียบกับแม่ที่คลอดในช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่จะมีผลกระทบในปัจจัยอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านสังคม” ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ เผยถึงความน่าเป็นห่วง

วิกฤตไทยใกล้รั้งท้าย ต้องเร่งสร้างสมดุล

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ยังได้ทำการเปรียบเทียบอัตราการเกิดของประเทศในอาเซียน ซึ่งพบว่ามีเพียง ‘สิงคโปร์’ และ ‘ไทย’ เท่านั้น ที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) หรือค่าเฉลี่ยจำนวนบุตรที่สตรีคนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ ใกล้เคียงกันอยู่ที่ 1.1-1.2 คน ซึ่งถือว่ารั้งท้ายประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-1.7 คน

ขณะที่ทั่วทั้งโลกอาจมีเพียง 10 ประเทศเท่านั้น ที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าไทย สะท้อนได้ว่าอัตราการเกิดของประเทศไทยนั้น “ต่ำมาก”

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละประเทศจะมีแนวทางสนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากรที่ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากระตุ้นคู่สมรสให้มีบุตร รวมถึงมาตรการลดหย่อนทางภาษี การให้วันลาคลอดและดูแลลูกที่มากขึ้นทั้งหญิงและชาย ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในการช่วยเลี้ยงดูเด็กเล็ก ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ประเทศไทยมีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรการกระตุ้นและช่วยเหลือให้มีลูก เช่น เงินช่วยเหลือเด็กเล็กเดือนละ 600 บาท แต่มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ยังไม่ใช่การให้แบบถ้วนหน้า หรือเงินอุดหนุนจากประกันสังคมเดือนละ 800 บาท เป็นต้น

“มาตรการต่างๆ ดูแล้วก็อาจจะดี แต่ไม่เพียงพอแน่นอน แล้วจุดสมดุลคือตรงไหนจึงจะเพียงพอ นี่จึงเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนจะต้องเข้ามาคุยกันในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง และออกแบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้มีความยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นภาพอนาคตในอีก 60-80 ปีข้างหน้า ประชากรไทยอาจจะเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียวของปัจจุบัน ซึ่งนั่นย่อมตามมาด้วยผลกระทบมหาศาลแน่นอน” ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ให้ภาพความน่ากังวล

4

เมื่อลูกไม่ใช่เป้าหมายของคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.บุญฤทธิ์ มองว่าปัญหาประชากรเกิดน้อย ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของ สธ. หน่วยงานเดียว หากแต่ปัญหานี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกกระทรวงจำเป็นต้องเข้ามาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นั่นก็เพราะปัญหาหลักที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก คือปัจจัยทาง ‘เศรษฐกิจ’ และ ‘สังคม’ ที่ส่งผลให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และการมีลูกอาจทำให้เสียรายได้ของครอบครัว รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน การเงิน การเจริญเติบโตในองค์กร จึงเกิดเป็นความชั่งใจในการมีลูกของคู่สมรส ซึ่งกลายเป็นปัญหาในเชิงสังคมที่ทุกฝ่ายล้วนได้รับผลกระทบสืบเนื่องถึงกันทั้งหมด

“นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังมองว่าการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตอีกต่อไป แต่เลือกใช้ชีวิตของตัวเองอย่างอิสระ เงินทองที่หาได้ก็เพื่อตัวเอง ทำให้ไม่คิดแม้แต่ที่จะแต่งงานด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายชีวิตที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ที่ต้องเรียน ทำงาน หาคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก ดูลูกเติบโต สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป” ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ให้ความเห็น

ทำแท้งเมื่อไม่พร้อม แต่กลับไม่พร้อมให้ทำแท้ง

จากตัวเลขการให้กำเนิดบุตรของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ที่มีอยู่กว่า 4.2 หมื่นคน ดร.นพ.บุญฤทธิ์ มองว่าจำนวนดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับจำนวนการเกิดทั้งประเทศที่มีประมาณ 4.8 แสนคน และจากภาพรวมทั้งหมดที่สำรวจได้ ยังพบอีกว่าหญิงที่ให้การคลอดบุตรนั้น มีสัดส่วนทั้งการตั้งใจท้อง และไม่ตั้งใจท้อง 'ครึ่งต่อครึ่ง' ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ถึงการวางแผนครอบครัวที่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงทุกคน

ในขณะที่ตัวเลขของการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย เท่าที่ สธ. รวบรวมได้มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นเคสทั่วประเทศ ซึ่งมีทุกกลุ่มอายุที่เข้ามารับบริการ แต่เขาก็ยอมรับว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีการทำแท้งนอกระบบอยู่ รวมไปถึงการกินยาที่ซื้อเองเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งยังมีอยู่จำนวนมาก ทำให้ทางการไม่สามารถเห็นตัวเลขที่แท้จริงของการทำแท้งได้

“กฎหมายการทำแท้งในบ้านเราถือว่ามีความทันสมัย ครอบคลุมทุกข้อบ่งชี้ของการที่จะยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้คนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเดินไปรับบริการได้เลย หากแต่ก็ไม่ใช่ทุกแห่งที่จะให้บริการด้านนี้ เพราะยังมีเส้นศีลธรรมคอยกำกับอยู่ ทำให้แพทย์บางคนไม่ทำให้ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม” ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ สะท้อนปัญหา

1

คุมกำเนิดอย่างเข้าใจ มุ่งเน้นใน ‘3 ป.

ประเด็นเหล่านี้ยังมีมุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติม จากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและสูตินรีแพทย์ อย่าง นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ซึ่งมองว่า แม้วัยรุ่นและเยาวชนที่ท้องไม่พร้อมจะมีชีวิตที่สะดุดไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าการมีลูกเมื่อไม่พร้อมแล้วชีวิตจะแย่ไปเสียหมด

ขณะเดียวกันเขามองว่า แม้วัยรุ่นและเยาวชนไทยจะมีความเข้าใจในการคุมกำเนิดค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน นั่นจึงนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้เขาพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหา 

ทั้งนี้ การคุมกำเนิดมีวิธีการที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ทั้งการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัยในผู้หญิง การกินยาคุม ฯลฯ ซึ่ง นพ.โอฬาริก เสริมว่าการให้คำแนะนำวัยรุ่นและเยาวชนในการคุมกำเนิด จะไม่ใช่แค่เพศชายอย่างเดียว แต่สำหรับเพศหญิงก็จะต้องเน้นใน ‘3 ป.’ นั่นคือ

1. ประสิทธิภาพการคุมกำเนิด ต้องมีความรู้ เช่น ยาคุมฉุกเฉินที่วัยรุ่นชอบใช้กัน ที่จริงแล้วมีความเสี่ยงและมีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 30% แต่หากเป็นยาคุมกำเนิดตามปกติ กินสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา จะช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ได้ถึง 90%

2. ปลอดภัย ต้องเข้าใจว่ายาคุมกำเนิดมีผลข้างเคียง และอาจไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วยบางโรค บางอาการ เช่น ไมเกรน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นต้น

3. ประโยชน์อื่นๆ ของการคุมกำเนิด มีหลายคนใช้ยาคุมเพื่อประโยชน์อื่น เช่น บางชนิดมีข้อบ่งชี้ที่ช่วยในการลดสิว ช่วยให้เส้นผมสวยขึ้น รวมไปถึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือน เป็นต้น

“แต่สิ่งที่ไม่แนะนำเลย คือการหลั่งข้างนอก โดยวัยรุ่นบางคนคิดว่าจะช่วยไม่ให้ตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้วนับตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ ก็หมายความว่ามีการเคลื่อนไหวของสเปิร์มแล้ว จึงมีโอกาสตั้งครรภ์ตั้งแต่เริ่ม" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ระบุ

นพ.โอฬาริก ยังทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้ทุกคนใส่ใจเรื่องของการคุมกำเนิดมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่น เพราะแน่นอนว่าแม้ประเทศชาติจะต้องการจำนวนประชากร แต่ก็ต้องการอย่างมีคุณภาพ ในช่วงที่เหมาะสม เพราะหากไม่พร้อมย่อมหมายถึงผลกระทบต่ออีกหลายชีวิตที่จะตามมา

อ้างอิง: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
https://rh.anamai.moph.go.th/th/cms-of-1/download/?did=214353&id=109136