ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย เผย ไทยอัตราเจริญพันธุ์รั้งท้ายอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ส่วนระดับโลก มีเพียง 10 ประเทศที่น้อยกว่าไทย ย้ำ ถ้าทุกฝ่ายไม่แก้จริงจัง อนาคต ‘ประชากรเหลือครึ่งเดียว’


ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศไทยจำนวนการเกิดใหม่ของประชากรค่อนข้างต่ำมาก ถ้าเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนคงจะมีสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ต่ำกว่าไทย เพราะเกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ราว 1.5, 1.7, และ 1.8 ต่อแสนประชากร แต่ไทยล่าสุดอยู่ที่ 1.08 ต่อแสนประชากร ส่วนระดับโลกก็น่าจะไม่ถึง 10 ประเทศที่มีอัตราดังกล่าวต่ำกว่าไทย

ทั้งนี้ แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในหลายมิติกับประเทศไทยในอนาคต จนหลายคนจึงมุ่งว่าอยากจะให้มีการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปี แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะทำให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพด้วย โดยกระดุมเม็ดแรกที่ควรจะติดก็คือการวางแผนครอบครัว สำหรับเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ในการรองรับเด็กที่จะเกิดมา

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ คู่ที่ยังไม่มีความพร้อม และไม่มีการวางแผนใดๆ เลย แล้วเกิดตั้งครรภ์ ถึงจะไม่มีผลอะไรต่อสุขภาพของเด็กที่เกิดมา แต่ปัจจัยสำคัญคือภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตของทั้งผู้ชาย และผู้หญิงที่เป็นผู้ให้กำเนิด ซึ่งส่งผลมายังเด็กที่เกิดขึ้นมาด้วย ก็จะมีความแตกต่างอย่างมากถ้ามีการวางแผนเตรียมความพร้อมไว้ โดยมีโอกาสที่จะเกิดมาอาจไม่ตรงกับสิ่งที่หลายคนคาดหวัง คือ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ แต่กลายเป็นด้านกลับกันแทน

“เราจะต้องสื่อสารไปพร้อมกัน เราต้องการเด็กเกิดใหม่ให้เพิ่มขึ้น อันนี้แน่นอน แต่ว่าเด็กที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเกิดมามีความพร้อมที่จะโตด้วย เพื่อให้มีคุณภาพด้วย ไม่ใช่เกิดมาแทนที่จะเป็นกำลังสำคัญของเราในอนาคต กลายเป็นปัญหาสังคมแทน อันนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าการวางแผนครอบครัวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ผมเรียกว่ามันเป็นรากฐานของประเทศด้วยซ้ำ“ ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ระบุ

นอกจากนี้ แม้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีของประเทศไทย จะมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากปี 2554 ที่มีเด็กเกิด จำนวน 782,198 คน แต่ในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิด 485,085 คน และมีแนวโน้มจะลดลงอีก แต่ในจำนวนดังกล่าว จากการสำรวจของ กรมอนามัย พบสิ่งที่น่าสนใจว่าทุกกลุ่มอายุที่ยังไม่พร้อมและไม่ได้ตั้งใจที่จะตั้งครรภ์ก็แทบจะมีครึ่งต่อครึ่ง 

อีกทั้งกลุ่มวัยรุ่นก็ยังพบปัญหาการตั้งท้องก่อนวัยอันควรอยู่ด้วย โดยจากรายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นของกรมอนามัยในปี 2565 มีการพบว่า วัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรมีชีพรวมทั้งสิ้น 42,457 คน หรือเฉลี่ย 116 คนต่อวัน ส่วนการคลอดซ้ำมีจำนวน 3,181 คน หรือประมาณ 7.5% โดยกลุ่มที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พบมีการคลอดบุตรทั้งสิ้น 40,888 คน หรือประมาณ 112 คนต่อวัน

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางแก้ไขนอกจากในส่วนที่กรมอนามัยพยายามให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เพื่อลดปัญหาท้องไม่พร้อมที่ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนขับเคลื่อนในส่วนนี้แล้ว ในภาพใหญ่ของการแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำของประเทศจะมีการดำเนินการตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เคยให้ข้อมูลเอาไว้ ได้แก่การประกาศเป็นวาระแห่งชาติ 

เนื่องจากเรื่องนี้ สธ. กระทรวงเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะมันเกี่ยวโยงไปกระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยทุกฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องช่วยกัน จึงต้องมาคุยกับอย่างจริงจังว่าในเชิงนโยบายจะทำอะไรอย่างไร เช่น จะมีการเพิ่มสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่มีความยั่งยืน เพื่อกระตุ้นให้คนอยากมีลูก ที่สำคัญต้องทำเป็นระยะยาวด้วย เพราะการทำ 1-2 ปี ไม่มีทางเห็นผลได้

“ถ้าปล่อยไปแบบนี้ไปอีกประมาณ 70-80 ปี บ้านเราน่าจะเหลือประชากรแค่ครึ่งเดียวจากปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นคงไม่ต้องถามหาผลกระทบกันแล้ว เพราะหายไปครึ่งประเทศ” ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ระบุ

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยก็มีแนวทางในการกระตุ้นการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็ยังไม่มาก เช่น เรื่องการลดหย่อนภาษี เงินเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน แต่ก็ได้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย ส่วนประกันสังคมก็ให้ 800 บาทต่อเดือน สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ดึงดูดให้คนมีลูกมากเท่าที่ควร จึงต้องมาดูกันว่านโยบายที่มีอยู่ที่ดีอยู่แล้ว จะพัฒนาอย่างไรต่อ เพราะเท่าที่มีอยู่ปัจจุบันก็ต้องบอกว่าไม่เพียงพอแน่ และเป็นความท้าทายที่ต้องรีบหาคำตอบ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากการช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐพยายามทำที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญก็คือความพร้อมด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพราะปัจจุบันมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้หญิงมีส่วนในตลาดแรงงานมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งถ้าการตัดสินใจตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ผู้หญิงกลุ่นมี้จำนวนหนึ่งก็อาจไม่อยากมีลูกเท่าไหร่นัก ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็อาจมองว่าการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตเหมือนคนรุ่นก่อนอีกต่อไป รวมไปถึงแนวคิดนี้อาจเกิดขึ้นกับแม้แต่คนที่แต่งงาน หรือมีคู่ด้วย