ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าวต่างประเทศ BBC เผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพบว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาอยู่นั้น กำลังจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ‘ภาวะมีบุตรยาก’ ของผู้ชายได้

ดร.สตีเฟ่น วาซิเลสคู (Dr. Steven Vasilescu) นักวิจัยและวิศวกรด้านชีวการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ และยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัททางการแพทย์ NeoGenix Biosciences ได้เปิดเผยถึง ระบบซอฟท์แวร์ AI ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า 'SpermSearch'

สำหรับระบบ AI นี้จะสามารถตรวจจับ 'อสุจิที่มีคุณภาพมากที่สุด' จากผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยระบบ AI สามารถตรวจจับได้ดีกว่าสายตามนุษย์ถึง 1,000 เท่า ซึ่งซอฟท์แวร์จะทำการประมวลผลอสุจิที่มีศักยภาพดีที่สุดออกมา

ขณะเดียวกันกระบวนการของนวัตกรรมซอฟท์แวร์ 'SpermSearch' จะสามารถใช้ได้กับผู้ชายที่มีปัญหาการหลั่งอสุจิได้น้อย หรือไม่หลั่งเลย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้ประมาณ 10% ของกลุ่มผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยาก

เดิมทีในการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ชายกลุ่มนี้ จะมีการผ่าตัดอัณฑะเพื่อหาน้ำเชื้ออสุจิที่มีคุณภาพในห้องแล็ป โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งแพทย์จะต้องใช้สายตาในการมองหาอสุจิที่มีรูปทรงเหมาะสม มีคุณภาพและศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่กระบวนการเจริญพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น หากพบอสุจิที่มีชีวิต ก็สามารถสกัดและฉีดเข้าไปในไข่ของผู้หญิงได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการเดิมนี้ ทีมนักวิจัยมองว่ายังคงมีความเสี่ยง เพราะเป็นการมองด้วยตาเปล่า จึงอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ อีกทั้งเมื่อมองน้ำเชื้ออสุจิผ่านกล้องจุลทรรศน์ ก็จะไปพบกับเลือด หรือเนื้อเยื่อที่ปะปน ทำให้การค้นหาอสุจิด้วยตาเปล่าทำได้ยาก และเปรียบเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร

ในขณะที่การใช้ SpermSearch ดร.สตีเฟ่น ระบุว่าจะมีการทำงานที่ต่างจากเดิม คือเมื่อมีการป้อนข้อมูลของอสุจิหรือสเปิร์มที่ต้องการลงไปในระบบแล้ว AI ก็จะทำการตรวจจับและค้นหาสเปิร์มที่มีสุขภาพดีได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งจากการวิจัยทำให้เห็นว่า AI จะมีประสิทธิภาพมากกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยค้นหาสเปิร์มจากกล้องจุลทรรศน์ได้เร็วและแม่นยำกว่าถึง 1,000 เท่า

"SpermSearch ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแทนที่นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน หรือแพทย์ที่ทำหน้าที่เจริญพันธุ์ แต่ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์เท่านั้น" ดร.สตีเฟ่น ขยายความ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีรายงานทางวิชาการพบว่า สเปิร์มในผู้ชายทั่วไปมีสัดส่วนลดลงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพ การออกกำลังกายไม่เพียงพอ และที่สำคัญคือการมีความเครียดมากเกินไป ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

ดร.ซาราห์ มาร์ตินส์ ดา ซิลวา (Dr. Sarah Martins da Silva) นักคลินิกเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยดันดี ประเทศสก็อตแลนด์ กล่าวว่า ความเร็วในการค้นหาสเปิร์ม หรือเชื้ออสุจิ นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะหากมีไข่ที่พร้อมปฏิสนธิ เราจะมีเวลาเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ต้องนำสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดใส่เข้าไป ดังนั้นการเร่งกระบวนการค้นหาสเปิร์มที่เร็วขึ้น ก็จะช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามในด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ไม่ได้มีเพียงแค่นักวิจัยสตาร์ทอัพจากออสเตรเลีย ผู้ริเริ่มคิดค้น SpermSearch กลุ่มนี้เท่านั้น หากแต่ในทวีปยุโรปเองก็ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับภาวะมีบุตรยากด้วยเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.เมอร์ริก กัลลาเกอร์ (Dr. Meurig Gallagher) แห่งศูนย์จำลองระบบและชีวเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ผู้ซึ่งพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้ในการตรวจจับความเร็วในการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เริ่มดำเนินการในเรื่องนี้เช่นกัน โดยงานวิจัยของเขาจะให้คำตอบได้ว่า สเปิร์มตัวนั้นมีการเคลื่อนไหวสมบูรณ์อย่างไร หรือมีความเครียดอยู่ในตัวและกำลังจะตายลง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการคัดสเปิร์มที่มีประสิทธิภาพได้

ในขณะที่บริษัทนวัตกรรมการแพทย์ ที่มีชื่อว่า ‘Examen’ ในเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ก็ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจจับสเปิร์มมาแล้วกว่า 20 ปี และพบว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นสำหรับนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยาก

ในอีกด้านหนึ่งหากมองกลับมาที่งานวิจัยของ SpermSearch นั้น ก็อาจยังไม่สามารถตอบโจทย์กับทุกปัญหาได้ เพราะการทดลองนั้นยังดำเนินการอยู่ในกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 7 รายเท่านั้น

"งานของ SpermSearch ยังไม่มีความหมายอะไร และต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-5 ปีเพื่อพัฒนาต่อไป ก่อนที่จะมุ่งสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ แต่กระนั้นการใช้ AI ตรวจจับสเปิร์มที่มีคุณภาพที่สุด ก็ถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมอย่างมาก แต่อาจยังเร็วไปที่จะใช้นวัตกรรมนี้เป็นวิธีหลักเพื่อแก้ปัญหา หากควรจะเป็น 'วิธีสุดท้าย' ในการรักษาการเจริญพันธุ์มากกว่า" ศ.ซีนา ลูอิส (Prof. Sheena Lewis) นักเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยควีนส์ เบลฟาสต์ ในฐานะผู้ก่อตั้ง Examen ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม คำยืนยันจาก ดร.สตีเฟ่น ที่กำลังพัฒนาระบบ SpermSearch อยู่นี้ ก็ระบุถึงความพร้อมที่จะเดินหน้าทำการทดลองทางคลินิก หรือการทดสอบในมนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จะช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ได้จริง จากผลการค้นหาสเปิร์มโดย AI

ที่มา: https://www.bbc.com/news/business-66608073