ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

*เนื้อหาที่กำลังอ่านต่อไปนี้มีการกล่าวถึงภาวะทางจิตใจ ปัญหาการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง* 

“ปัญหาสุขภาพจิต” เป็นหนึ่งในภาวะที่พบได้มากในวัยรุ่น และไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ฆ่าตัวตาย จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในเอเชียตะวันเฉียงใต้ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า วัยรุ่นไทยมีความคิดอยากตายถึง 15% และ 13% เคยพยายามลงมือฆ่าตัวตาย

“เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน” จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พบว่า “เด็กนักเรียน” มีปัญหาสุขภาพจิต เกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กรมสุขภาพจิต ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ระบุว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด และจังหวัดที่พบอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศคือ เชียงราย 

นอกจากนี้ สถานการณ์การฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน) ตั้งแต่ปี 2563-2565 ที่พบว่ามีอัตราอยู่ที่ 14.15, 14.95 และ 15.25 ต่อแสนประชากรตามลำดับ หากอิงจากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่า “สูงกว่าเกณฑ์” ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเอาไว้ หนำซ้ำยังแนวโน้มมากขึ้นทุกปี 

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน “ไม่มีนักเรียนฆ่าตัวตาย” เลยซักคนเดียว

2

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่มาจากการเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของ เกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีเวียงเชียงแสน และได้เริ่มโครงการ “วัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต” ขึ้นในปี 2564 โดยสร้างระบบให้คำปรึกษาในโรงเรียน 

ที่สำคัญคือเป็นการสร้างพื้นที่การพูดคุยระหว่าง “เด็กที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน” เพื่อให้เด็กที่กำลังประสบกับสภาวะอันหนักอึ้งของจิตใจได้ระบายสิ่งเหล่านั้นออกมา มากไปกว่านั้นหากพบว่าเด็กคนไหนมีปัญหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตจะมีการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที 

ชมพู่ และธันวา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในแกนนำจิตอาสาจากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคมเล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงาน “จุดพักใจ” ตรงนี้เกิดจากความสนใจในปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว บวกกับได้รับคำชักชวนจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ได้เข้าร่วมก่อนหน้าก็เลยทำให้ได้เข้ามามีส่วนช่วยในโครงการนี้ 

ทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาที่พบเจอส่วนมากจากการให้คำปรึกษาคือความเครียดทั้งจากเรื่องเรียน ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจในครัวเรือน และการปรับตัวเข้าสังคมใหม่ เป็นหลัก 

ชมพู่ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เป็นเจ้าของเคสแต่ก็ถือว่าเป็นอีกเคสที่รุนแรงถึงขนาดต้องส่งต่อให้โรงพยาบาล โดยคนนั้นมีอาการแพนิค เก็บตัว ไม่สามารถอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมากได้ ส่งผลให้ต้องรับประทานยาตลอด และจะเห็นน้องเข้ามานอนที่จุดพักใจอยู่บ่อยครั้งด้วยผลข้างเคียงของยา ที่

นอกจากนี้ยังมีประวัติทำร้ายตัวเองและพกของมีคมติดตัวอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดน้องเริ่มเปิดใจและเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากกลุ่ม ทำให้หลังจากการพูดคุยก็ได้มีการส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล จนถึงตอนนี้น้องอาการดีขึ้นมาก พูดคุยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เช่นเดียวกันกับธันวาที่ได้ให้ข้อมูลถึงอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทางกลุ่มเคยพบก็คือมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเป็นทุนเดิมและรับประทานยาตลอดพยายามจะทำร้ายตัวเอง ซึ่งนอกเหนือจากการ “รับฟัง” และ “สังเกต” อย่างตั้งใจแล้วก็พบว่าในเคสนี้ควรต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น (PHQ-A) ที่ใช้ควบคู่กันกับการให้คำปรึกษา และผลของแบบประเมินก็ช่วยืนยันเอาไว้อย่างแน่ชัดว่า “อยู่ในระดับที่ 5” หรือระดับที่มีภาวะซึมเศร้า “รุนแรง” จากนั้นจึงได้มีการประสานกับครูที่ปรึกษาโครงการฯ จนมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาต่อไป

“เข้ามาในโครงการเกือบปี สิ่งที่เห็น ผมเพิ่งรู้ว่ามีหลายคนที่เป็นเมื่อไปตรวจประวัติในแฟ้มก็ไม่คิดว่าจะเป็น เพราะภายนอกดูปกติ ไม่คิดว่าจะเป็นซึมเศร้าอะไรประมาณนี้” ธันวา อธิบายเสริม 

3

นอกจากความสนใจที่เป็นแรงผลักให้เด็กนักเรียนโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนก็คือ “การอยากช่วยเพื่อน” ซึ่งทำให้ “จุดพักใจ” มีกำลังคนเพิ่มขึ้นในการดูแลนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต 

หนึ่งในนั้นก็คือ น้ำเพชร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เข้ามาเป็นแกนนำในโครงการจิตอาสาด้านสุขภาพจิต เพราะต้องการช่วยเหลือเพื่อนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า และคนอื่นๆ ที่มีปัญหาทางจิตใจ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “จุดพักใจ” ตั้งแต่ตัวเองยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้น จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว 

สิ่งหนึ่งที่ตกผลึกได้จากระยะเวลาทั้งหมดที่ทำหน้าที่นี้ น้ำเพชร บอกว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถปรับตัวเข้าหาสังคมใหม่ได้ และไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะเป็นที่พึ่งได้ มากไปกว่านั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษาได้ 

สำหรับเหตุการณ์การช่วยเหลือที่น้ำเพชรรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด ก็คือการที่ได้ช่วยเหลือเคสจากการถูก “บูลลี่” ที่ค่อนข้างรุนแรงด้วยการถูกกลุ่มเพื่อนพูดให้เสียหายทำให้เพื่อนในห้องไม่อยากยุ่งและเพื่อนรอบข้างเริ่มหายไป จนเกิดเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว แต่ก็กลัวว่าการหาเพื่อนใหม่จะซ้ำรอยเดิม และกลายเป็นคนที่กลัวการเข้าสังคม 

ในตอนนั้นเริ่มจากการที่ครูรับรู้ปัญหา จึงได้มีการมาบอกต่อว่าเคสนี้สภาพจิตใจค่อนข้างไม่โอเค นั่นทำให้น้ำเพชรอาสาที่จะรับเคสนี้ด้วยตัวเอง จนตอนนี้เด็กคนนั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

“สิ่งแรกที่น้องเขาตอบกลับมาหลังจากที่ได้ทักไปก็คือคำว่า หนูดีใจมากนะที่พี่ทักมา เมื่อกี้หนูเกือบจะไม่อยู่แล้ว” น้ำเพชร เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญ

3

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คนระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข บางคนไม่มีที่พึ่งซึ่งอาจจะไปสู่อันตรายที่อาจเกิดกับชีวิตได้ 

มากไปกว่านั้น ด้วยความที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการมากขึ้น ก็ทำให้มีเด็กเข้ามาปรึกษาทั้งในรูปแบบออนไซต์ กล่าวคือการปรึกษาพุดคุยแบบตัวต่อตัว และรูปแบบออนไลน์จากเพจเฟซบุ๊กมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และปัญหาสุขภาพจิตที่เคยเกิดขึ้นก็เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่มีเด็กที่เครียดหรือขาดที่พึ่งจนต้องหาทางออกด้วยการทำร้ายหรือจบชีวิตตัวเองเหมือนที่เคยผ่านมาอีกแล้ว 

พลากร มูลไว นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย หนึ่งในผู้อบรมโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการฯ ในโรงเรียนนำร่องทั้งโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคมและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ว่า ในช่วงปี 2563 เป็นปีที่พบว่ามีเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปีตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง จึงได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลเพื่อพยายามสำรวจปัญหาและก็พบว่าจากเคสดังกล่าวไม่มีรายชื่อการเข้ารับบริการการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในโรงพยาบาล นั่นจึงทำให้เริ่มคิดว่าในส่วนนี้อาจจะอ่อนเรื่องการส่งเสริมป้องกันเชิงรุก 

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ความเห็นที่ตรงกันแล้วจึงได้มีการร่วมมือกับกลุ่มงานอื่นๆ ในโรงพยาบาล เช่น กลุ่มงานด้านยาเสพติด กลุ่มงานอนามัยวัยเจริญพันธุ์ ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (OSCC) ฯลฯ ลงพื้นที่จัดกิจกรรมเชิงรุกด้วยกัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทั้ง 2 โรงเรียนนำร่อง โดยเลือกจากการที่มีเด็กเข้ามารับการประเมินมากที่สุด จึงได้มีการคืนข้อมูลกลับให้ผู้บริหาร ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนก็เห็นตรงกันว่า “ควรจะมีกิจกรรมหรือระบบบางอย่างที่ช่วยเหลือเด็กจากปัญหาสุขภาพจิต” ก่อนจะเขียนโครงการเพื่อของบไปยังเทศบาลฯ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรม

จากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พลากรบอกว่า มีเด็กที่เข้ารับการปรึกษาผ่านโครงการฯ จากทั้ง 2 โรงเรียนแล้วประมาณ 63 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กที่ต้องส่งต่อเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล 28 ราย แบ่งออกเป็นภาวะหรือโรคซึมเศร้า 19 ราย ความเครียด 7 ราย และวิตกกังวล 2 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าจากการที่เด็กสามารถเข้าถึงการประเมินมากขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนการเข้ารับบริการของเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในส่วนของโรงเรียนก็มีการให้ทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าทุกเทอม เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้มีนักเรียนเข้ารับบริการมากขึ้นตามไปด้วย 

“ไม่ได้หมายความว่าเด็กเป็นซึมเศร้ามากขึ้น แต่มีอยู่แล้วเพียงแต่เขาได้รับการคัดกรองเร็วขึ้น เยอะขึ้นเพราะรู้ไวขึ้นและรู้ว่าต้องเข้าหาใคร” พลากร ระบุ 

3

นอกจากนี้สิ่งที่ พลากร เห็นได้ชัดจากการทำโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คือความ “ตั้งใจ”  ของแกนนำที่มีพัฒนาการเรื่องการให้คำปรึกษาที่ดีมากขึ้น ทบทวนสิ่งที่ทางโรงพยาบาลได้ให้ความรู้ไปกับกลุ่มอยู่เสมอ จนตอนนี้เปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศตรวจจับอารมณ์ได้ไว ทำให้มีการแจ้งครูที่ปรึกษาหรือโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ดี 

“เขามีความตั้งใจ มีการเสนอตัวสอนรุ่นต่อไป เขาเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดระบบต้องอยู่ได้ด้วยตัวของโรงเรียนเอง เพื่อความยั่งยืน” พลากร กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่มีแกนนำเป็นเด็กนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้นก็มีโอกาสที่จะพูดคุยได้ละเอียดขึ้น ซึ่งนั้นนับเป็นข้อดี มากไปกว่านั้นเมื่อมีเด็กให้ความสนใจและเข้ามารับบริการมากขึ้นก็จะทำให้ปัญหาการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายน้อยลงตามไปด้วย

 ขณะเดียวกัน เคสที่ได้รับการส่งมายังโรงพยาบาลเมื่อกลับไปที่โรงเรียนก็จะมีกลุ่มแกนนำที่เป็นคนมอนิเตอร์อาการ แม้แกระทั่งการรับประทานยา ทำให้การเข้าถึงกลุ่มเด็กง่ายขึ้น และตัวเด็กเองก็จะสามารถมองเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพจิตมีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาสุขภาพกาย

“ตั้งใจจะขยายต่อไปทุกโรงเรียนนอำเภอ เช่น โรงเรียนประถม โรงเรียนมันธยมในต่างตำบลที่ห่างไกลไปหน่อย หากมีระบบเหมือนที่โรงเรียนนำร่องมี ส่วนตัวคิดว่าจะช่วยเด็กได้มากขึ้น” พลากร ทิ้งท้าย