ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ในงานเปิด “สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2566” ภายใต้หัวข้อ “Mental Health Anywhere, Helpers Care Everyone : เพื่อนแท้มีทุกที่ เพื่อนดีดูแลใจ ที่จัดขึ้นโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เน้นย้ำเรื่องการดูแล และป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมต่างๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วย โดยหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เครื่อง “VR for Mental Health” จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่ถือเป็นตัวเลือกในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช “แบบเสมือนจริง” ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงการรักษา หรือการบำบัดผู้ที่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจไม่น่าเบื่ออีกต่อไป 

ด้วยการทลายจำเจจากภาพที่ผู้ป่วยเคยเห็นอีก ซึ่ง “คอมพิวเตอร์ โปรแกรมปฏิบัติการ แว่น VR และคอนโทรลเลอร์” คือเครื่องมือหลักที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดเข้าไปในโลกเสมือนจริง และยังสามารถปรับเปลี่ยนโลเคชันที่สบายใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชายทะเลที่ให้บรรยากาศผ่อนคลาย หรือจะเป็นป่าไม้ที่ให้ความรู้สึกสงบ 

4

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกกับ “The Coverage” ว่า  เทคโนโลยีที่ว่านี้จะนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety) กลุ่มโรคกลัว (Phobia) หรือกลุ่มที่ทำจิตบำบัด เนื่องจากการใช้ VR Therapy อาจจะเหมาะสมกับบางคน บางกลุ่ม บางโรค รวมไปถึงการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดแบบกลุ่มที่เชื่อมโยงไปถึงจักรวาลคู่ขนาน (Metaverse) ที่ผู้ป่วยสามารถสร้างตัวละสมมติ (Avatar) แทนตนเอง สอดรับกับการให้บริการ “Virtual Hospital” หรือโรงพยาบาลเสมือนจริง 

“สำหรับผู้ป่วย เช่น โรคกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวที่สูง กลัวแมงมุม หรือกลัวการพูดในที่สาธารณะ สามารถใช้ VR Therapy เพื่อให้เห็นภาพโดยไม่ต้องจินตนาการ และจะทำให้ค่อยๆ ชินไปกับสถานการณ์ได้” 

ภายในโลกเสมือนจริงนั้นมีอยู่หลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโลเคชันที่สามารถทำได้จนกว่าจะเจอบรรยากาศที่ตรงใจ รวมไปถึงการพูดคุยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ หรือกระทั่งผู้ป่วยคนอื่นๆ โดยไม่ต้องเห็นหน้า เพราะบางคนอาจจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะพบปะกันในชีวิตจริง หรือต้องพูดคุยในห้องสี่เหลี่ยม ที่อาจทำให้รู้สึกอึดอัด

มากไปกว่านั้นยังมี “Anger Room” ห้องสำหรับระบายอารมณ์ หรือความโกรธสำหรับการผ่อนคลาย ด้วยการระบายออก (Acting Out) โดยจะเป็นลักษณะของการตีกลองชุดซึ่งส่วนนี้เป็นมาตรฐานของโลก เนื่องจากการระบายออกจะสามาถทำได้ด้วยการออกแรงผ่านคอนโทรลเลอร์ที่ถืออยู่ในมือ แต่โปรแกรมที่สถาบันใช้จะมีการเพิ่มกลองสะบัดชัยเข้าไปเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น 

4

สำหรับเทคโนโลยีนี้นั้นทางสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนออกโปรแกรม ซึ่งในช่วงแรกจำเป็นต้องรองบประมาณของปี 2567 เข้ามาบริหารจัดการ หากผ่านไปสักระยะทางมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาก็จะเข้ามาช่วยดูแล ซึ่ง นพ.ศรุตพันธุ์ บอกว่า หากเมื่อไหร่ที่โปรแกรมเป็นของสถาบันฯ เมื่อนั้นก็จะสามารถกระจายไปยังโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศได้ เพราะสิ่งที่มีราคาสูงไม่ใช่อุปกรณ์ หากแต่เป็นโปรแกรม

“ถ้าเป็นของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อไหร่ การันตีได้ว่าโรงพยาบาลรัฐในประเทศ ใช้ได้แน่” 

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นการจะใช้การรักษาด้วย VR Therapy ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ามาประเมินความพร้อมที่โรงพยาบาลก่อน โดยการบำบัดจะเลือกจากผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย ที่สำคัญในขั้นตอนของการใช้จะมีนักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด หรือทีมสหวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่หากเป็นการบำบัดกลุ่มก็จะมีนักจิตวิทยา หรือพยาบาลคอยเป็นผู้นำกลุ่มในการทำกิจกรรม 

โปรแกรมดังกล่าวอาจจะอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา หรือเตรียมทดลองใช้ แต่ที่ผ่านมาในปีงบประมาณที่แล้ว ทางสถาบันก็ได้ทดลองใช้สำหรับการปรึกษากับแพทย์ โดยส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมทดลองบอกว่า “ชอบแบบนี้” มากกว่า รวมไปถึงเคยให้มีการลงรายชื่อแสดงความสนใจเกี่ยวกับการใช้ VR Therapy ผลตอบรับที่ได้ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี