ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยที่เผยแพร่ในคลังข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อเดือนที่ผ่านมา เรื่อง “การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศของทีมวิจัยที่นำโดย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แม้ในปัจจุบันที่บุคคลข้ามเพศได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย แต่ขณะเดียวกัน ระบบบริการสุขภาพกลับเป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับบุคคลข้ามเพศ ซึ่งต้องการบริการสุขภาพที่จำเพาะกับพวกเขา 

งานวิจัย ระบุอีกว่า บุคคลข้ามเพศทั้งเพศชายและเพศหญิง จะเจอปัญหาเรื่องสุขภาพจะเกี่ยวกับผลจากฮอร์โมน ที่มีประสิทธิภาพสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสรีระในบุคคลข้ามเพศทุกคน โดยมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตด้วย   

นอกจากนี้เพศชายที่เป็นบุคคลข้ามเพศ จะมีความดันเลือดสูงขึ้นเมื่อข้ามเพศ และยังมีกรดยูลิกที่สูงมากขึ้นแต่ไม่มีสัญญาณโรคเก๊าท์ อีกทั้งค่าความเข้มข้นของเลือดก็สูงขึ้น เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง 

ขณะที่เพศหญิงที่เป็นบุคคลข้ามเพศ งานวิจัยไม่พบว่าฮอร์โมนไปลดระดับการทำงานขอตับให้ด้อยประสิทธิภาพลง ขณะที่น้ำตาลในเลือดก็ยังมีระดับที่ปกติรวมถึงค่ายูลิกเองด้วย รวมถึงการข้ามเพศของผู้หญิงกลับไปพบด้วยว่า ร่างกายได้ลดระดับความดันเลือดลดลงอีก

ไม่เพียงเท่านั้นทั้ง 2 กลุ่ม ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เลย แต่ทว่า การเก็บข้อมูล ก็พบว่า อัตราการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ระหว่างการมีกิจกรรมทางเพศ ในส่วนของเพศชายที่เป็นบุรุษข้ามเพศจะป้องกันในระดับต่ำ และทำให้มีการระดับการคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีก็ต่ำตามลงไปด้วย 

ในส่วนสุขภาพจิตจากการติดตามรักษาของทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เป็นบุคคลข้ามเพศไปแล้ว พบว่า สภาพจิตใจดีขึ้น และคลายความทุกข์ใจจากเพศสภาพเดิมของตัวเองได้ดี แต่ก็ยังเห็นภาวะซึมเศร้าและการวิตกกังวล แต่ที่น่าสนใจอย่างมากคือ เมื่อมีการข้ามเพศแล้ว ปัญหาสมาธิสั้นของบุคคลข้ามเพศ หรืออาการติดเกมกลับหายไป 

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้สรุปในแง่ของสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของบุคคลข้ามเพศเมื่อเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลต่างๆ โดยพบว่า ยังมีอุปสรรคหลายอย่างเมื่อบุคคลข้ามเพศไปใช้บริการสุขภาพ ทั้งจากตัวผู้รับบริการ ซึ่งก็คือบุคคลข้ามเพศ กับผู้ให้บริการ ก็คือหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาล เนื่องจากไม่เข้าใจและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ 

สาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมนักวิจัยสังเคราะห์ว่า เป็นเพราะบุคคลข้ามเพศยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงเกิดการเลือกปฏิบัติ และมีผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา หรือการเข้าถึงบริการสุขภาพในด้านต่างๆ ตามมา 

ตลอดจนระบบหลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการด้านสุขภาพของบุคคลข้ามเพศไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ขาดเงินทุนจากภาครัฐที่จะสนับสนุน รวมถึงขาดหน่วยบริการสุขภาพที่เหมาะสมและเข้าใจถึงสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ 

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยได้เสนอการพัฒนา 8 ด้าน ที่อาจเป็นอีกทางเลือกในเชิงนโยบายเพื่อตัดสินใจแก้ไขเรื่องนี้จากผู้กำหนดนโยบาย ประกอบด้วย 1. การคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ 2. การไม่เลือกปฏิบัติ 3. การสนับสนุนงบประมาณ  4. การศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากร 5. สนับสนุนบริการสุขภาพจิต 6. การเข้าถึงฮอร์โมนเพื่อบำบัดและการผ่าตัด 7. การรวบรวมข้อมูลของบุคคลข้ามเพศ และ 8. สนับสนุนเครือข่ายขับเคลื่อนรวมถึงในด้านกฎหมาย 

ทีมนักวิจัย สรุปในตอนท้ายว่า บุคคลข้ามเพศจะเจอปัญหาสุขภาพทางกายที่ไม่แตกต่างกันนักเมื่อมีการข้ามเพศไปแล้ว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศ 

แต่ประเด็นสำคัญจากงานวิจัยจากทีมของโรงพยาบาลรามาฯ ไปพบ คือ ปัญหาสุขภาพจิต ที่ทีมระบุว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล จำเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างต่อเนื่อง และบุคลากรทางการแพทย์ควรทราบข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อการตรวจติดตามสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ 

ขณะเดียวกัน การบริการสุขภาพของบุคคลข้ามเพศยังมีอุปสรรคหลายด้าน หน่วยบริการ หรือคลินิกที่ให้บริการกับบุคคลข้ามเพศ ควรผ่านการออกแบบอย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยบริการนั้นมีคุณภาพที่จะดูแลบุคคลข้ามเพศได้อย่างครอบคลุม มีความละเอียดอ่อน และมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม 

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5916?locale-attribute=th