ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่านตัดยืนยันเพศ ระบุ หลังผ่าตัดยืนยันเพศ ส่งผลให้กระบวนการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายเสีย แนะ หลังผ่าตัดควรใช้ฮอร์โมนจนถึงวัยทองตามธรรมชาติ ลดการเสียสมดุล ขณะที่แพทย์ผิวหนัง เผย ความไม่สมดุลของ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” อาจส่งผลกระทบต่อผิวช่วงเปลี่ยนผ่านได้


นพ.วรพล รัตนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยแพทย์ตกแต่ง ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง โรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยถึงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการข้ามเพศกับ ‘The Coverage’ ในงานเปิดตัว ‘วาสลีน โปร เดอร์มา ทรานซิชั่น บอดี้ โลชั่น’ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ตอนหนึ่งว่า การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการข้ามเพศ เนื่องจากหลายคนก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดจะมีการดูแลตัวเองมาก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการใช้ฮอร์โมนสำหรับการข้ามเพศ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจะต้องใช้ฮอร์โมนตามที่กำหนดเป็นระยะเวลา 1 ปี เพราะการใช้ฮอร์โมนเป็นตัวบ่งชี้ว่าสามารถผ่าตัดได้

นพ.วรพล กล่าวว่า หลังจากการผ่าตัดแล้ว กระบวนการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายจะสูญเสียไป ฉะนั้นการใช้ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้ร่างกายเสียสมดุล ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนจนถึงช่วงวัยทองธรรมชาติ หรืออายุ 50-60 ปี เมื่อถึงจุดนี้ กลุ่มคนข้ามเพศสามารถหยุดใช้ฮอร์โมน หรืออาจจะใช้ต่อไปได้ภายใต้การดูแลของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ยาคุม เพราะยาคุมไม่ใช่ฮอร์โมนที่ควรใช้สำหรับผู้หญิงข้ามเพศ และไม่เหมาะกับการใช้ในระยะยาว เนื่องจากมีโดสฮอร์โมนที่สูงมาก หากใช้ระยะยาวเป็นหลักสิบปีอาจเพิ่มแนวโน้มในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจหลอดเลือด ขณะที่ฮอร์โมนทดแทนซึ่งใช้ในการข้ามเพศนั้น มีโดสฮอร์โมนที่ต่ำกว่า ทำให้เหมาะกับการใช้ในระยะยาว

นพ.วรพล ระบุว่า โดยทฤษฎีแล้ว ผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนในกระบวนการข้ามเพศนั้น ควรได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน และต้องมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนมีความแตกต่างกันในแต่ละชนิด รวมถึงความจำเป็นในการใช้ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

“บางคนเกิดมามีฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองได้เยอะ ก็จะมีความจำเป็นต้องรับฮอร์โมนทดแทนน้อยกว่า การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศนั้น มีโอกาสที่ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสวิงขึ้นลงได้ ซึ่งจะส่งผลทั้งเรื่องผิว หรือมีผลในเรื่องของอารมรณ์ เป็นต้น” นพ.วรพล ระบุ

1

ด้าน พญ.สุรัสศวัลย์ วงศ์เกียรติขจร แพทย์เฉพาะทางผิวหนัง กล่าวว่า ฮอร์โมนสำหรับการข้ามเพศนั้น ส่วนมากจะพูดถึงฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีส่วนช่วยเรื่องการรักษาระดับความชุ่มชื้นของผิว ผ่านการกระตุ้นการผลิตกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้ผิวอุ้มน้ำได้ขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดให้ความเชื่อฮอร์โมนชนิดดังกล่าวจะทำให้ผิวเนียน หรือรูขุมขนเล็กลง ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นระบบดับฮอร์โมนจะต้องเข้าสู่จุดสมดุลก่อน

หากอยู่ในช่วงที่ยังไม่เข้าสู่สมดุล อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผิว เช่น ผิวแห้ง ผิวไวต่อแดด ส่งผลให้เกิดกระ ฝ้า และผิวหมองคล้ำได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพศหญิงที่อาจเกิดปัญหาผิวในภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุลได้ เช่น ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อผิวหนังที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างการข้ามเพศนั้น นอกเหนือจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม ความเครียด น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฯลฯ ร่วมด้วย

“เรื่องฮอร์โมนสวิงมีผลต่อผิวแน่นอน ถ้าผู้หญิงก็นช่วงสั้นๆ ที่มีประจำเดือน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการข้ามเพศ ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านอาจจะเกิดความยากลำบาก ฉะนั้นการดูแลผิวขั้นพื้นฐานควรจะมีตัวที่ให้ความชุ่มชื้น หรือไวเทนนิ่ง เป็นต้น” พญ.สุรัสศวัลย์ ระบุ