ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนไปเมื่อ ค.ศ. 1895 ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนนิยาย บทละคร กวี ฯลฯ แห่งมหานครดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง ‘The Picture of Dorian gray’ และ ‘The Happy Prince’ ถูกศาลในยุคสมัยนั้นตัดสินให้รับโทษจำคุก 2 ปี เพราะถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมรักร่วมเพศซึ่งระหว่างการถูกจองจำ เขาได้เขียนความเรียงชื่อ ‘De Profundis’ ซึ่งกล่าวถึงความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม-ความทุกข์ และมหากาพย์แห่งความเศร้าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ในศตวรรษต่อมาล่วงมาจนถึงปัจจุบันไม่ใช่หนึ่งร้อยปีแห่งความเจ็บปวดของคนกลุ่มนี้อีกต่อไป เมื่อทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายและเรื่องเพศที่ละเอียดอ่อนไปกว่าการแบ่งแยกด้วยเครื่องเพศ ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ เท่านั้น

แน่นอน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้รับการผลักดันให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นประเด็นที่สำคัญอย่างเรื่อง “การสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน’ ก็ยังไม่มีการรับรองเป็นกฎหมายในหลายประเทศโดยจาก 193 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 30 ประเทศ ที่ให้สถานะนี้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา สเปน เบลเยี่ยม เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฯลฯ ซึ่งประเทศต่อไปอาจเป็นไทยเราก็ได้

นั่นเพราะเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พร้อมกันถึง 4 ร่าง หรือ 4 ฉบับ

ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอเช่นเดียวกัน 3. ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ ... สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกลและคณะ

แน่นอนว่า ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ มีทั้งสาระสำคัญที่ทั้งเหมือนและต่างกัน หนึ่งในนั้นคือ สถานะทางกฎหมายของบุคคล โดยร่างกฎหมายฉบับ ครม. และ ปชป. จะระบุว่าเป็น คู่ชีวิต แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่จะให้สถานะเป็น คู่สมรส

สถานะบุคคลภายใต้กฎหมายมีความสำคัญมาก เพราะสัมพันธ์กับการได้รับสิทธิด้านอื่นๆ

พูดให้ชัด การได้รับสถานะบุคคลเป็น คู่สมรส ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะได้รับ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และ สิทธิประกันสังคม ในฐานะคู่สมรสด้วย

ผู้เสนอและหนึ่งในผู้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล บอกกับ “The Coverage” ว่า ตามกฎหมายแล้ว สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการจะคุ้มครองไปถึงคู่สมรสด้วย ฉะนั้นหากกฎหมายระบุสถานะบุคคลว่าเป็น คู่สมรส ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่สมรสกับข้าราชการก็ย่อมได้รับสิทธิรักษาพยาบาลนั้นเช่นเดียวกัน

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการรับรองสถานะดังกล่าว จึงเหมือนเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ครูธัญ ระบุ

ส.ส.พรรคก้าวไกล อธิบายว่า ประเทศไทยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลักๆ อยู่ 3 สิทธิ หรือ 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งว่ากันเฉพาะแค่ 3 สิทธินี้ ก็มีความเหลื่อมล้ำชั้นหนึ่งอยู่แล้ว เช่น อัตราเบิกจ่ายค่ารักษา การเลือกสถานพยาบาล ฯลฯ

ฉะนั้น เมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากสร้างครอบครัวด้วยกัน แต่ตามกฎหมายไม่ให้ทำ เท่ากับว่าเขาจะไม่ได้รับโอกาสในการใช้สิทธิในฐานะคู่สมรส ทำให้เป็นความเหลื่อมล้ำอีกชั้นซ้อนทับเข้าไป ขณะที่ชาย-หญิงทั่วไป ถ้ารักกันสามารถจดทะเบียนและได้รับความคุ้มครองในฐานะคู่สมรสได้ทันที

สิทธิก่อตั้งครอบครัวไม่ใช่สิทธิที่เราขอ แต่เป็นสิทธิเขาพรากของเราไป เมื่อคืนสิทธินี้กลับมา นั่นหมายถึงว่าประชาชนทุกคนก็จะเกิดความเท่าเทียม คือทุกอัตลักษณ์และเพศวิถีสามารถสมรสกันได้" ธัญวัจน์ ระบุ

ส.ส.ธัญวัจน์ บอกอีกว่า ร่างกฎหมายที่ยื่นไปจะให้สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสถานะคู่สมรสและได้รับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการเหมือนชายหญิงทั่วไป เช่น สิทธิที่คุ้มครองคู่สมรสจากประกันชีวิต สิทธิประกันสังคม ซึ่งใน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่มีระบุในส่วนนี้

ความสำคัญของการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เพียงเครื่องยืนยันความรักและการสร้างครอบครัวเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงการได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอันพึงมี ในฐานะคู่สมรสและความเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย