ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety ชวนผู้ป่วยและครอบครัวร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความปลอดภัย ตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการดูแลไปจนถึงการร่วมออกแบบระบบบริการและการกำหนดนโยบาย โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ 3P Safety ในอนาคต


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety ประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.)

1

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า งาน Patients Safety Day ถูกจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งแต่ละปีก็มีธีมที่เน้นประเด็นสำคัญในปีนั้นๆ ตั้งแต่การรณรงค์ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ความปลอดภัยของบุคลากร การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแม่และเด็ก และเรื่องความปลอดภัยทางยา 

อย่างไรก็ดี แม้จะขับเคลื่อนมา 4 ปีแล้ว พบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าในความเป็นจริงแล้ว จะขับเคลื่อนเฉพาะบุคลากรไม่ได้ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย ดังนั้น ธีมงานในปีนี้จึงเป็นเรื่อง Engaging patients for patient safety เพื่อเชิญชวนทุกคน ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปลอดภัย 

2

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมวันนี้ก็เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ของผู้คนให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือ engage ผู้คน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วย ตั้งแต่การดูแลส่วนบุคคลไปจนถึงการร่วมวางแผนเชิงนโยบาย เป็นเจ้าของระบบบริการสุขภาพและสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนโปรโมทประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน

“unsafety care เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุทางถนนและโรคมะเร็ง ดังนั้น ต้อง engage, empower และ elevate ให้ทุกคนส่งเสียงและขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการดึงผู้ป่วยและครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการรักษา เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถลด unsafe care ได้มากถึง 15 % ที่สำคัญ ผู้ป่วยและครอบครัวไม่น่าจะเกี่ยวข้องเฉพาะการดูแลรักษา แต่สามารถร่วมออกแบบระบบบริการ ซึ่งก็สอดคล้องกับมาตรฐาน HA ข้อ 1-3 ที่กำหนดให้รับฟังความคาดหวังของผู้ป่วยและผู้รับบริการเพื่อนำมาสู่การออกแบบระบบบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

2

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยนั้น ในช่วงปี 2561-2564 ได้ขับเคลื่อนเรื่อง Patient and Personnel Safety (2P Safety) แต่แผนยุทธศาสตร์ระยะต่อไป ระหว่างปี 2566-2570 คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งมี รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้วางเป้าหมายขับเคลื่อนจาก 2P Safety เป็น 3P Safety คือ Patient Personal และ People 

มีทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ และยังได้นำ Global patient safety action plan มาประกบใน 5 ยุทธศาสตร์นี้ เพื่อประเมินช่องว่างระหว่างยุทธศาสตร์ระดับโลกและของประเทศไทยว่ายังมีเรื่องใดที่ประเทศไทยยังพัฒนาได้อีก และพบว่าเรื่องของการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยเพื่อสร้างความปลอดภัย ยังเป็นส่วนที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาเพิ่มได้ดีกว่านี้อีกใน 7 หัวข้อ คือ 1.Resource mobilization and allocation การสร้างระบบความปลอดภัย ทรัพยากรต่างๆต้องมีพร้อม และจะขับเคลื่อนในเชิงนโยบายได้อย่างไร 2.Leadership capacity for clinical and managerial functions การสร้างผู้นำของแต่ละโรงพยาบาลที่เป็นความสำคัญของ patients and personnels Safety

3

3. Patients safety in primary care and transitions of care ขณะนี้มีการถ่ายโอนภาระกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดังนั้นจึงต้องมุ่งเน้นและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน 4. Co-development of policies and programmes with patients เห็นความสำคัญที่จะเชิญชวนให้ประชาชนแล้วก็เข้ามาร่วมวางแผนในการพัฒนาทั้งระบบบริการในเชิงปฏิบัติและในระดับนโยบาย

5. Patients safety competencies as regulatory requirements บุคลากรทุกคนต้องมีความสามารถในด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการตัดสินใจในด้านความปลอดภัย 6.Patients safety research programmes การมุ่งเน้นความสำคัญของการวิจัย และ 7. Digital technology for patients safety ก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย

2

“ทั้งหมดนี้ได้ผสานเข้าไว้ในยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยที่จะก้าวเข้าสู่ 3P Safety ในอนาคต และจะเพิ่มความเข้มแข็งในส่วนของ P ที่สาม หรือ People ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ที่ส่งต่อให้เกิดระบบบริการที่มีความปลอดภัย ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยหรือบุคลากรแต่ต้องรวมไปถึงประชาชนด้วย ทั้งการสื่อสารข้อมูลสู่สังคมในเรื่องความปลอดภัยต่างๆ การสร้างเสริมสุขภาพ การส่งต่อบริการในระดับต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในมาตรฐาน HA อยู่แล้ว แต่เราจะเน้นหนักให้มากขึ้น”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ในครั้งนี้ นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech จาก 10 โรงพยาบาลที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ตลอดจนการมอบประกาศนียบัตรให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566 จำนวน 950 แห่ง โดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกด้วย

2