ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ เข้า สธ. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ สธ.-เซ็นเข้ารับตำแหน่ง รมว.สธ. พร้อมเผยกรอบการดำเนินงาน เตรียมตั้ง ‘บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ National Health Board’ ดูแลด้านนโยบายสุขภาพทั้งหมด ส่วนยกระดับ ‘บัตรทอง’ รอความชัดเจน 30 ก.ย. นี้


เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ สธ. พร้อมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข รวมถึงลงนามในหนังสือการเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่ง ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งงานหรือมอบนโยบายกันระหว่าง รมว.สธ. ส่วนการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่เคยบอกไปนั้นจะเป็นการเพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพในทุกมิติ เช่น ส่งเสริมป้องกันโรค สุขภาวะ ฯลฯ โดยจะมีความชัดเจนในวันที่ 30 ก.ย. 2566 ภายหลังจากมีการแถลงกับรัฐสภา 

ทั้งนี้ คำว่า ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นเพียงชื่อโครงการ และเป็นแบรนด์ดิ้งเท่านั้น เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาเก็บค่าใช้บริการ 30 บาท นอกจากนี้จะมีการยกระดับมิติสุขภาพในเชิงระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพระหว่าง 3 กองทุน (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) การแก้ไขปัญหาภาระงานล้นของบุคลากรทางการแพทย์ การจัดสรรตำแหน่ง การกำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ โดย สธ. จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน 

2

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในการบริหารมีการมองไปถึงการตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Board) ในนามของภาพใหญ่ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลาง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในโครงสร้างจะมีบุคลากรจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และภาคเอกชน  โดยจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ ทั้งในและนอกขอบข่ายอำนาจการบริหารของ สธ. 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ไม่มีข้อกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จะเกิดข้อโต้แย้งไม่ให้มีคณะกรรมในรูปแบบนี้เกิดขึ้น เหมือนสมัย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สธ. ในช่วงรัฐบาลของ นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะมุ่งใช้เนื้องานเป็นหลัก เนื่องจากต้องยอมรับว่าการประสานความร่วมมือดูแลสุขภาพในขณะนี้เป็นไปในลักษณะแยกส่วน การตอบสนองต่องานทางด้านสุขภาพก็ไม่มีประสิทธิภาพ และผลิตภาพเท่าที่ควร 

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดนี้จะไม่มีความทับซ้อนแต่ละหน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายแต่ละฉบับรองรับอยู่ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยจะไม่มีการคัดกรองหากมีการเสนองบประมาณที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะจะเน้นไปที่เรื่องนโยบายเป็นหลัก จะไม่เกี่ยวกับการบริหารของแต่ละหน่วยงาน

“การตั้งคณะกรรมการนี้ บทบาทของ สธ. จะไม่ลดลง แต่จะเข้มแข็งมากขึ้น โดยจะเป็นจุดเชื่อม เพราะ National Health Board จะไม่มายุ่งกับการบริหารงานของกระทรวง โดย สธ. จะไม่ใช่การฟังบอร์ดฝ่ายเดียว แต่เรื่องส่วนใหญ่จะถูกแต่ละกระทรวงนำเสนอต่อบอร์ด และทำงานโดยเน้นบูรณาการกัน คืออุดช่องว่าง” นพ.ชลน่าน กล่าว 

3

สำหรับประเด็นการทำงานร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท เชื่อว่าที่เคยเกิดความไม่พอใจก่อนหน้านี้จะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า เพราะต้องเข้าใจว่าทิศทางการทำงานของ รมว.สธ. และคณะผู้บริหารชุดใดๆ ก็อาจะมีนโยบายและแนวทางที่ต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนตัวที่มารับผิดชอบตรงนี้ ค่อนข้างให้ความสำคัญในส่วนนี้มาก เพราะกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น บุคลากรทางการแพทย์สำคัญมาก อีกทั้งยังมีเข็มมุ่งว่า สธ. น่าจะบริหารจัดการเองมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งตรงนี้มีการปรึกษาหารือกันอยู่

“ส่วนหลังจากนี้จะมีการชุมนุมของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเรียกร้องที่ สธ. หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าจะไม่มีการปิดกั้น เนื่องจากยิ่งมีเสียงสะท้อนถึงความต้องการมาที่ สธ. และทาง สธ. สามารถตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งการแสดงออกเพื่อการชุมนุมเรียกร้องก็เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย รวมถึงหากจะมีการเข้ามาพูดคุย เช่น กับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาก็ยินดีที่จะร่วมกันแก้ปัญหา” รมว.สธ. ระบุ

3

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในประเด็นกัญชาทางการแพทย์ มีการระบุไว้ชัดเจนทั้งนโยบายของรัฐบาลและ สธ. ว่าจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะมีการนำกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดหรือไม่ ต้องไปดูที่ข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ตัวกัญชาเองก็ยังเป็นยาเสพติดอยู่ แต่เป็นไปตามประกาศกระทรวงที่รองรับ ที่ได้กำหนดว่าสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 จะเข้าข่ายเป็นสารเสพติด 

“ผมมีความมั่นใจว่าจะมีการทำงานอย่างสมานฉันท์ไม่เกิดความขัดแย้งภายใน เพราะมีความเป็นพี่เป็นน้องเคยทำงานร่วมกัน เข้าใจในมิติการขับเคลื่อนในบริบททต่างๆ ของแต่ละฝ่ายดี และก็ทราบว่าการขับเคลื่อนตรงนั้นไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เพื่อพี่น้องประชาชน ความสมานฉันท์ปรองดองร่วมกันแก้ปัญหา จึงมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้” นพ.ชลน่าน ทิ้งท้าย 

2