ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การออกกำลังกายง่ายๆ อย่างแอโรบิก หรือแค่เดินเพียงเล็กน้อยต่อวัน อาจช่วยให้ลดความเสี่ยงโรคที่จะเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” (Stroke) แล้ว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (A-Fib) ได้อย่างมากอีกด้วย 

งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร  European Society of Cardiology โดยรวบรวมเอาการทบทวนวรรณกรรม และความเห็นการวิจัยจากแพทย์ มาชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะได้ ผ่านการเดินง่ายๆ ในแต่ละวัน 

บทความดังกล่าว ระบุถึงข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Yang Ming Chiao Tung University) ที่จัดเก็บจากผู้คนมากกว่า 1.5 หมื่นคนที่ไม่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะมาก่อนมาออกกำลังกายผ่านลู่วิ่ง โดยแบ่งความเข้มข้นของการออกกำลังกายตั้งแต่การเดินไปจนถึงการวิ่งบนลู่ออกเป็น 3 ระดับ เพื่อหาค่าสมรรถภาพของร่างกายที่มีผลต่อการเผาผลาญ (MET) ซึ่งเป็นค่าที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม โดยจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี 

ในระดับที่ 1 มีความเข้มข้นน้อยสุด มีค่าต่ำกว่า 8.57 METs ระดับที่ 2 ความเข้นข้นปานกลาง ระหว่าง 8.57-10.72 METs และระดับที่ 3 มีความเข้มข้นสูง มีค่าสูงกว่า 10.72 METs

ผลที่ได้คือการออกกำลังกายแต่ละระดับ ส่งผลให้หัวใจห้องบนมีการเต้นที่คงที่ และไม่มีอาการผิดปกติ หรือความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้ คนที่ออกกำลังกายเข้มข้นน้อย เช่น การเดิน หรือแอaบิกอย่างง่ายๆ มีอัตราหัวใจเต้นคงที่ 97% ส่วนคนที่ออกกำลังกายเข้มข้นปานกลาง-สูง เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน พบว่ามีอัตราหัวใจเต้นคงที่ 98.4% เท่ากัน 

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการออกกำลังกายแต่ละระดับว่าได้ผลต่อสุขภาพของหัวใจเป็นอย่างดี แต่กระนั้น ระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอายุ อาการเจ็บป่วย และสมรรถภาพของหัวใจและปอด ที่สำคัญต่อการออกกำลังกาย 

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอย่างง่ายๆ เช่น การเดินเป็นประจำในแต่ละวัน แม้เป็นการออกกำลังกายที่ไม่เข้มข้น แต่ประสิทธิภาพของร่างกายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก็มีผลทำให้ความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะลดลง 

มีข้อแนะนำจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันด้วยว่า หากส่งเสริมให้มีการเดินทุกวันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และกลุ่มที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็จะช่วยลดจำนวนของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจล้มเหลว และโรคที่เกี่ยวกับลิ่มเลือด ที่จะเป็นโรคตามมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย 

3

งานวิจัยชิ้นนี้ ยังสอดรับกับแนวคิดของแพทย์ด้านโรคหัวใจ ดร.นิคัล วอร์ริเออร์ (Dr.Nikhil Warrier) แพทย์ทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และผู้อำนวยการสถาบัน MemorialCare Heart & Vascular จากศูนย์การแพทย์ Orange Coast แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 

“แนวทางของงานวิจัยชิ้นนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบัน ที่พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะในกลุ่มประชากรได้” ดร.วอร์ริเออร์ กล่าว

ส่วนในฐานะของแพทย์ที่ทำการรักษา ดร.วอร์ริเออร์ กล่าวว่า การขอให้ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะออกกำลังกายอย่างง่ายๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผู้ป่วยให้มีหัวใจที่แข็งแรงขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาหัวใจ การออกกำลังกาย ควรปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง 

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป ดร.วอร์ริเออร์ บอกว่า ในขั้นแรก หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจใช้วิธีการเดิน หรือแอโรบิกร่างกายอย่างง่ายๆ อย่างน้อยให้ได้ครั้งละ 30 นาทีต่อวัน และทำติดต่อกันอย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์  

นอกจากนี้ อีกวิธีคืออาจออกกำลังด้วยการเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่เข้มข้นมากนัก แต่ต้องควบคู่ไปกับการเล่นเวทเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้ออย่างน้อยอีก 2 วันต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยส่งผลต่อการลดความเสี่ยงอาการต่างๆ ของหัวใจได้ในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า การออกกำลังกายแต่ละระดับอยู่ที่สภาพร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องไม่เปรียบเทียบการออกกำลังกายกับคนอื่นที่อาจเข้มข้นกว่า 

"โดยรวมแล้ว การออกกำลังกายช่วยในการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ลดน้ำหนัก ลดไขมันในเลือด มีผลต่อการควบคุมความดัน รวมถึงการควบคุมน้ำตาลในเลือด ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อหัวใจโดยตรง การออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างเป็นประจำ จึงอาจนำไปสู่การลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้ รวมถึงลดภาวะหัวใจล้มเหลวได้" ดร.วอริเออร์ ย้ำ

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.เอิร์นส์ ฟอน ชวาร์ซ (Dr.Ernst von Schwarz) แพทย์โรคหัวใจ ศูนย์การแพทย์ UCLA กล่าวเสริมถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า การศึกษาและงานวิจัยชิ้นนี้ได้ยืนยันสิ่งที่แพทย์โรคหัวใจถูกสั่งสอนมาอย่างยาวนานว่า การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อหัวใจ 

แม้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการออกกำลังกายมีผลต่อหัวใจได้อย่างไร แต่ ดร.ฟาน ชวาร์ซ ระบุว่า น่าจะเกิดจากหลอดเลือดได้ยืดหยุ่นเมื่อมีอาการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยหัวใจจะปรับสภาพให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีและทำให้ลดปัยหาหัวจเสื่อม โดยเฉพาะปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ที่มา : https://www.healthline.com/health-news/even-a-simple-daily-walk-can-significantly-lower-your-risk-of-afib-and-stroke#The-bottom-line