ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอนานาประเทศปรับทิศทางสร้างระบบสุขภาพ โดยให้เน้นบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเมื่อนำมาบูรณาการเข้าในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว จะสามารถต่ออายุให้กับประชากรโลกมากกว่า 60 ล้านชีวิต เพิ่มอายุขัยเฉลี่ยได้ถึง 3.7 ปี

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) คือ การสร้างกลไกที่ทำให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเมื่อต้องการ โดยไม่เป็นภาระทางการเงิน 

บริการสุขภาพนี้ครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษา การฟื้นฟู และการดูแลระยะสุดท้าย กล่าวได้ว่านี่คือบริการสุขภาพที่ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต และช่วยคุ้มครองประชากรจากความเสี่ยงตกอยู่ในความยากจนค่ารักษาพยาบาล

การบรรลุเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชากรทั้งโลก เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้การทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ 

ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็มีโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชากรอย่างน้อย 1,000 ล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2568

ก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เห็นได้จากตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ 3.8.1 ด้านความครอบคลุมบริการสุขภาพ ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 45 เป็น 68 ในปี 2543 และ 2562 โดยกลุ่มประเทศแอฟริกามีความก้าวหน้าในตัวชี้วัดด้านนี้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี ยังมีประชากรประมาณ 2,000 ล้านคน ที่ต้องล้มละลายหรือยากจนลงเพราะค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ 3.8.2 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน 

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยังคงเป็นอุปสรรคในการการคุ้มครองสุขภาพของประชากร ยกตัวอย่างเช่น อัตราความครอบคลุมของบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ บริการสุขภาพสำหรับแม่และเด็ก และเยาวชน มักจะมีค่าสูงกว่าในกลุ่มประชากรที่มีรายได้และระดับการศึกษาสูงกว่า และอาศัยอยู่ในเขตเมือง 

2

ขณะที่สมาชิกในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และสมาชิกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มประสบปัญหาทางการเงิน และต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพด้วยตนเอง สะท้อนความจำเป็นในการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพของประชากรทุกกลุ่ม เพื่อใช้ออกแบบนโยบายสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในปี 2564 ระหว่างช่วงสูงสุดของการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 92% ของประเทศทั่วโลกไม่สามารถให้บริการสุขภาพที่จำเป็น และลดลงเหลือ 84% ในปี 2565 เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย นั่นส่งผลให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มากถึง 25 ล้านคนไม่สามารถเข้ารับวัคซีนที่จำเป็นในปี 2564 

ในเดือน มิ.ย. การเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีประชากรเพียง 34% ที่ได้รับการฉีดวัคซีน น้อยกว่าประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ 73% 

องค์การอนามัยโลกเสนอแนวทางสร้างรากฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยปรับทิศทางระบบสุขภาพโดยใช้บริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary health care: PHC) ซึ่งเป็นแนวทางที่เน้นความครอบคลุมสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร มีความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพทางการเงิน ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพกายและจิตใจ

บริการสุขภาพปฐมภูมิสามารถบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของบริการสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถึง 90% 

ขณะที่ 75% ของผลลัพธ์ทางสุขภาพที่วางหมุดหมายในเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนด้านสุขภาพ สามารถทำได้ผ่านบริการสุขภาพปฐมภูมิ และจะนำไปสู่การต่ออายุให้กับประชากรมากกว่า 60 ล้านชีวิต และเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกได้ถึง 3.7 ปีภายในปี 2573

องค์การอนามัยโลกได้ให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคกับประเทศที่มีระบบสุขภาพเปราะบาง เน้นสถาบันแห่งชาติและการให้บริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

ในประเทศที่มีระบบสุขภาพเข้มแข็ง องค์การอนามัยโลกเข้าไปเสริมความครอบคลุมของบริการสุขภาพผ่านการพูดคุยทางการเมือง และเสนอแนะแนวทางวางระบบสุขภาพที่ยั่งยืนในอนาคต และมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกเสนอให้นานาประเทศร่วมทำตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เกิดจากการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในปัจจุบัน ตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนมีสองตัวหลัก ได้แก่ อัตราความครอบคลุมของบริการสุขภาพที่จำเป็น (หรือตัวชี้วัดที่ 3.8.1) และ อัตราการจ่ายค่าบริการสุขภาพที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลาย (ตัวชี้วัดที่ 3.8.2) ตัวชี้วัดนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้

อ่านบทความต้นฉบับ : https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/universal-health-coverage-(uhc)