ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) สำนักงานเอเชียตะวันออก-ใต้ เรียกร้องนานาประเทศเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน แนะยกระดับบริการปฐมภูมิเป็นรากฐานการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง พร้อมชื่นชมประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ว่ามีตัวชี้วัดด้านสุขภาพที่ดีขึ้น

เนื่องในโอกาสวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก (International Universal Health Coverage Day) ในวันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปี พญ.พูนาม เคทตราปาล ซิงห์ (Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก สำนักงานเอเชียตะวันออก-ใต้ ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก เน้นย้ำความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการทำให้คนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

สำนักงานเอเชียตะวันออก-ใต้ทำงานร่วมกับ 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต

พญ.พูนาม กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่ารัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมต้องช่วยกันสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ครอบคลุม เข้าถึงและจ่ายได้โดยไม่แบ่งแยกฐานะ

“การบริการปฐมภูมิเป็นรากฐานของการสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พญ.พูนาม ให้ความเห็น

ในระดับโลก มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับบริการสุขภาพที่พวกเขาต้องการ กว่า 996 ล้านคนต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของรายได้ครัวเรือน

มีประชากร 299 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และ 117 ล้านคนตกอยู่ใต้เส้นความยากจนเพราะการจ่ายค่ารักษา

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกและใต้ให้ความสำคัญเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในลำดับต้นๆ เพราะเห็นร่วมกันว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ยกระดับทุนทางมนุษย์ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ในระหว่างปี 2553-2562 ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวมีความก้าวหน้าด้านการขยายความครอบคลุมของบริการสุขภาพ โดยมีคะแนนในตัวชี้วัดด้านนี้เพิ่มจาก 47 เป็น 61 คะแนน

นอกจากนี้ ยังสามารถลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จ่ายโดยครัวเรือนจาก 50% เหลือ 40% ในระหว่างปี 2543-2561 และลดสัดส่วนครัวเรือนที่ยากจนลงเพราะจ่ายค่าบริการสุขภาพจาก 30% เหลือ 6% ในระหว่างปี 2543-2560

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ความหนาแน่นของหมอ พยาบาล และผู้ผดุงครรภ์เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30% มี 9 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคที่มีจำนวนบุคลากรสาธารณสุขสูงกว่าสัดส่วนที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 22.8 คนต่อ 10,000 ประชากร จากที่แต่เดิมมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้น

มี 5 ประเทศที่บรรลุเป้าหมายการลดอัตราการตายของเด็กแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อัตราการเป็นวัณโรคก็ลดลง 34% ในระหว่างปี 2543-2563

ตั้งแต่ปี 2559 มี 6 ประเทศที่สามารถขจัดโรคเขตร้อนได้อย่างน้อยหนึ่งโรค ทุกประเทศมีบริการปฐมภูมิที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการดำเนินงานภายใต้แผนยกระดับบริการปฐมภูมิที่องค์การอนามัยโลกร่วมกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564

อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้สร้างความท้าทายใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนในภูมิภาคที่ยากจนรุนแรงเพราะโรคระบาด และมีความเสี่ยงยากจนลงเพราะค่ารักษาพยาบาล ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพหยุดชะงักในหลายพื้นที่

ประเทศส่วนมากเผชิญแรงกดดันด้านงบประมาณเพราะโรคระบาด จึงไม่สามารถการันตีได้ว่ารัฐบาลจะให้น้ำหนักกับการลงทุนด้านสุขภาพในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่

ในสถานการณ์เช่นนี้ พญ.พูนาม เห็นว่ายิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อปกป้องและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคน องค์การอนามัยโลกเสนอแนวทางการปฏิบัติใน 3 ประเด็น ได้แก่

หนึ่ง ต้องส่งเสริมความร่วมมือข้ามภาคส่วนในทำให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผู้ตัดสินใจด้านนโยบายต้องให้ความร่วมมือ และต้องพิจารณาปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อสุขภาพในการทำนโยบายส่งเสริมสุขภาพด้วย

สอง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากสังคม เพื่อยกระดับธรรมาภิบาลในการตัดสินใจด้านนโยบายสุขภาพ ผู้ตัดสินนโยบายและผู้ให้บริการสุขภาพต้องฟังเสียงของผู้รับบริการ ลดความไม่สมมาตรทางอำนาจ และคำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบาง

สาม ต้องพัฒนากรอบกฎหมายที่รองรับสิทธิสุขภาพ และขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักฐานหลายชิ้นยืนยันว่าการออกแบบกฎหมายที่ดีจะปกปองสุขภาพคนได้อย่างครอบคลุม เพิ่มการมีส่วนร่วม สร้างธรรมาภิบาล บริหารงบประมาณด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สี่ ต้องคงไว้หรือเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพ เพิ่มบริการปฐมภูมิ มีข้อเสนอจากองค์การอนามัยโลกให้เพิ่มภาษีสินค้าบาป เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มรสหวาน

พญ.พูนาม ทิ้งท้ายว่า นานาประเทศมีโอกาสที่จะสร้างภูมิภาคและโลกที่ดีกว่า ซึ่งคนมีสุขภาพดี เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม มีความมั่นคงด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลกจะสนับสนุนความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้ประชากรเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ต้องเผชิญปัญหาทางการเงิน

อ่านข่าวต้นฉบับที่:
https://www.who.int/southeastasia/news/detail/12-12-2022-international-universal-health-coverage-day-achieve-health-for-all-through-all-for-health