ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“Telemedicine” หรือ “การแพทย์ทางไกล” กลายเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างสูง หลังจากโควิด-19 ได้บีบบังคับให้เราทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal

แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป โควิด-19 จะถูกปรับลดระดับความร้ายแรงลงมาเป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” และผู้ที่ติดเชื้อแบบอาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว หากแต่ “Telemedicine” ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อไป

วันนี้ “The Coverage” จะขออาสาพาทุกท่านพูดคุยกับ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ถึงเรื่องการนำเทคโนโลยี “Telemedicine” เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมไปถึงบริการรับยาแบบ “Drive Thru” เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกได้มากขึ้นอีกด้วย

นนทบุรีเป็นเขต เมืองผู้รับบริการอยากได้ ความรวดเร็ว

นพ.สฤษดิ์เดช ย้อนความให้เห็นภาพว่า จังหวัดนนทบุรีนั้นเป็นเขตเมือง และผู้รับบริการส่วนมากก็อยากได้บริการแบบรวดเร็ว สะดวกสบายไม่ต้องแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปี ใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีวิสัยทัศน์ที่อยากจะให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแล โดยคำนึงจากประสบการณ์การใช้บริการของผู้ป่วย เพราะอยากให้การทำงานของโรงพยาบาลตอบโจทย์ผู้รับบริการ

ตามวิสัยทัศน์แล้วเราอยากใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว เพราะเรามองว่าเทคโนโลยีนั้นมาแล้ว แต่โควิดทำให้เห็นความเป็นไปได้มากขึ้น และสามารถดูแลประชาชนได้จริง เป็นการตอกย้ำสิ่งที่คิดว่ามาถูกทาง”

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเกิดขึ้นมาใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถ้านับตามระดับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีผู้ป่วยใน ซึ่งการเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งใจให้เป็น “Super OPD” ที่มีเฉพาะผู้ป่วยนอก แต่ก็ยังมีบริการ “One Day Surgery (ODS)” หรือบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ หรือนอนค้างที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนในกลุ่มที่ส่องกล้อง หรือผ่าตัดเล็ก

เพราะว่าทางจังหวัดเองและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้วิเคราะห์อยู่แล้ว ว่าในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเราขาดบริการที่เป็นลักษณะของผู้ป่วยนอก และประชาชนเข้าถึงยากเพราะโรงพยาบาลอื่นๆ มีความแออัด

ฉะนั้นแล้วโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีพยายามที่จะเปิดบริการสำหรับผู้ป่วยนอกที่ดูแลเฉพาะทาง ซึ่งเป็นจุดที่ถูกวางไว้ตั้งแต่เปิดโรงพยาบาล ทำให้ทิศทางดำเนินมาแบบนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็ตอบโจทย์ช่องว่างของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย

‘Product Champion’ และการใช้เทคโนโลยี ตรวจสุขภาพ

ปัจจุบันศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีจะมีอายุรแพทย์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูก แพทย์หู คอ จมูก บริการทางทันตกรรม แพทย์กายภาพบำบัดในการให้บริการ ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักๆ จะเป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยภาวะโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง รวมไปถึงกลุ่มที่ต้องได้รับการฟื้นฟู

สำหรับจุดเด่นของโรงพยาบาล จะมีตั้งแต่บริการทันตกรรมที่ครบครัน โดยมีทันตแพทย์คอยให้บริการอยู่ประมาณ 10 คน สามารถจัดฟัน ทำฟันหรือรากฟันเทียมได้ นอกจากนี้ยังมีบริการกายภาพบำบัด ซึ่งโรงพยาบาลมีทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมนักกายภาพบำบัดที่มีอุปกรณ์ค่อนข้างครบ รวมไปถึงแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนอีกด้วย

“เราคิดว่าเป็น Product Champion ของโรงพยาบาลอยู่ หมายความว่าคนจะนิยมมารับบริการที่เราเนื่องจากบริการเหล่านี้”

นอกจากนี้แล้ว “นพ.สฤษดิ์เดช” ยังมองไปถึงการใช้ Telemedicine เข้ามาช่วยเรื่องการตรวจสุขภาพอีกด้วย โดยจะเป็นการแจ้งผลและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้ประชาชนไม่ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลหากการตรวจสุขภาพไม่มีปัญหาใดๆ

อีกหนึ่งส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้รับบริการ นั่นคือความ “ไม่แออัด” เนื่องจากโรงพยาบาลมีการจัดคิวนัดให้ “เหลื่อมเวลา” เป็นรอบ รอบละ 20-30 คน ยกเว้นผู้ป่วย Walk-in ทำให้บริการภายในโรงพยาบาลไม่หนาแน่นจนเกินไป ซึ่งตรงนี้เป็นทิศทางที่พยายามวางให้เป็นลักษณะของการนัดและพบแพทย์เฉพาะทาง หรือถ้าหากมีผู้ป่วย Walk-in เข้ามาก็จะมีห้องให้คำปรึกษาทั่วไปก่อน หากไม่มีแพทย์เฉพาะทางก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป

“ตัวโครงสร้างถูกออกแบบมาเพื่อรองรับทิศทาง คล้ายๆ Super OPD อยู่แล้ว หน้าตาของโรงพยาบาลก็จะแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นนิดหน่อย ถ้าประชาชนทั่วไปไม่ได้ทราบมาก่อนเขาก็จะมองว่าเป็นเอกชน อันนี้ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของเราในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ”

‘Telemedicine’ สามารถดูแลปัญหาของประชาชนได้

นพ.สฤษดิ์เดช ระบุว่า ใช้ Telemedicine ในการทำงานมาร่วม 2 ปี พบว่าสามารถดูแลสุขภาพ หรือปัญหาของประชาชนได้ครอบคลุมระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงมองเป็นโอกาสจากที่ได้มีการลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนำมา “ต่อยอด” กับงานที่จะเกิดขึ้นในภาวะปัจจุบันได้

“ผมมองว่าการใช้เทคโนโลยีน่าจะไม่ง่ายนะ สำหรับบุคลากรและประชาชน ก็อย่างที่เรียนว่าโควิดช่วยให้เรามีโอกาสได้สัมผัสกับการดูแลผ่านเทคโนโลยี ทำให้น่าจะมีการยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับบริการได้ดีขึ้น ผมเลยมองว่ามันง่ายกว่าที่คิด”

ขณะนี้ นพ.สฤษดิ์เดช ก็ได้วางแผนนำ Telemedicine เข้ามาใช้ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. โควิด-19 2. แจ้งผลตรวจสุขภาพออนไลน์ 3. ตรวจโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจะเป็นการตรวจรักษาจากแพทย์โดยใช้เทคโนโลยี มีเจาะเลือดโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากนั้นก็จะมีการส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้

“สำหรับบริการ Telemedicine จริงๆ เรามองว่าโรคใดที่ไม่จำเป็นต้องรับยาทันที หมายความว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มียาอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องรอยา เขาอาจจะกลับก่อนและมารับยาของวันนั้นผ่านาน Drive Thru หรือว่าจะรับยาผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ ตรงนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะบางทีเราตรวจเสร็จเราอาจจะมีธุระ แล้วค่อยรอรับยาทีหลังก็ได้”

จัดบริการรับยาแบบ ‘Drive Thru’

ขณะเดียวกัน Telemedicine ยังได้เข้ามาอุดช่องว่าง “ปัญหาเรื่องที่จอดรถ” ด้วย เพราะโรงพยาบาลมีพื้นที่จอดรถค่อนข้างน้อย โดยจะจอดได้ไม่เกิน 200 คัน ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์กับผู้มารับบริการหากต้องมารอนานๆ ฉะนั้นจึงพยายามให้ประชาชนไม่ต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยยังจะได้รับบริการที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับการมารับบริการที่โรงพยาบาลมากที่สุด

ส่วนนี้หมายความว่า ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์แบบออนไลน์ด้วยระบบ Telemedicine และเข้ามารับยาแบบ Drive Thru (ซึ่งจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และสแกน QR Code ก่อน) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจากผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน หากรับยาแล้วหากมีข้อสงสัยเรื่องของการใช้ยาก็สามารถติดต่อ ปรึกษา สอบถามในระบบ หรือโทรสอบถามได้

นพ.สฤษดิ์เดช มองว่าในอนาคตอาจจะมีการขยายบริการไปยังผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นร่วมด้วย ซึ่งก็อาจจะต้องรอผลตอบก่อนว่าจะออกเป็นอย่างไร

“มองว่าการทำรูปแบบนี้ควรจะทำให้ครอบคลุมในพื้นที่เขตเมือง รวมไปถึงในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ เพราะว่าประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น”

ในอนาคต ‘Telemedicine’ จะเข้ามาช่วย บริการปฐมภูมิ

นพ.สฤษดิ์เดช ระบุว่า อยากให้ Telemedicine เป็นส่วนเสริมที่ทำให้การดูแลในบางเรื่อง บางโรค หรือบางกรณีสะดวกขึ้น ส่วนนี้อาจจะต้องเข้าไปผนวกกับ “ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” นั่นคือการมีแพทย์ประจำตัว และมีทีมที่อยู่ใกล้ชุมชนดูแล อย่างที่รู้กันในนาม “นโยบาย 3 หมอ”

เพื่อให้เห็นภาพ นั่นก็คือแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาล และเชื่อมโยงระบบไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการดูแลประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล รวมไปถึงใช้ในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งคิดว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการที่ขยายการใช้ Telemedicine เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายตรงนี้ได้

“นโยบายสามหมอถ้าพูดลอยๆ จะดูจับต้องยาก แต่พอมี Telemedicine เข้ามา เราสามารถเชื่อมโยงได้จริง ก็ทำให้เห็นเลยว่าหมออาจจะไม่ต้องลงมาที่ รพ.สต. ทุกวันก็ได้ และก็สามารถให้คำแนะนำปรึกษาดูแลได้เลยที่ คิดว่าน่าจะเป็นทิศทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพในยุคต่อไปก็คือเน้นในการดูแลใกล้บ้าน ตรงนี้ก็จะมาเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ครบถ้วนผ่านเทคโนโลยี”