ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เส้นผม’ และ ‘ทรงผม’ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ สร้างความสวยความหล่อในฉบับตัวเองแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ลงลึกในระดับจิตใจของคนจำนวนมาก นั่นเพราะ ‘เส้นผม’ ส่งผลต่อความมั่นใจด้วย 

ทว่า การเจ็บป่วยกลุ่มโรคมะเร็ง ผู้ป่วยต้องรักษาผ่านการให้ ‘ยาเคมีบำบัด’ เมื่อผ่านไปได้สัก 1-2 สัปดาห์ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็คือ ‘ผมร่วง’

แน่นอน ผลกระทบต่อสภาพจิตใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา ความรู้สึกไม่มั่นใจจากการสูญเสียผม ทำให้ผู้ป่วยหลายคนเลือกที่จะเก็บตัวอยู่บ้านไม่ออกไปเจอสังคม เพราะการไม่เจอใครอาจจะดีกว่าถ้าต้องโดนทักว่าเป็นอะไรเหรอ? ป่วยเหรอ? 

การตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ อาจทำให้สภาพจิตใจของเขาแย่ลงอีก

‘วิกผมแท้’ จึงกลายเป็นเพื่อนคนสำคัญของผู้ป่วยมะเร็ง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ประกาศ “ปิดรับบริจาคเส้นผม” เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการผลิตวิกผม 

หนำซ้ำ การเก็บเส้นผมไว้นานๆ เส้นผมก็จะเสียหายลงเรื่อยๆ

“The Coverage” พูดคุยกับ น.ส.อริณยภัสสร์ เลิศดิเรกรัตน์ หรือ คุณปิ๊ก ผู้ก่อตั้งเพจโครงการทำวิกผมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง (สมาชิกกลุ่มอาสาจิตต์ดี) เธอร่วมกับเพื่อนอีก 2-3 คน ใช้เวลาว่างจัดทำ วิกผมแท้ ส่งให้ไปยังผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศมานานกว่า 8 ปี

2

เงินบริจาคเพื่อทำวิก สวนทางกับจำนวนเส้นผม

อริณยภัสสร์ เล่าว่า ในช่วงแรกของการรับบริจาคเส้นผม พบว่ามีผู้บริจาคมามากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งมากเกินกว่าจะระดมทุนเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตวิก เช่นเดียวกับที่สถาบันมะเร็งเจอในขณะนี้ 

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าบริจาคเส้นผมไปก็จบแล้ว ซึ่งที่จริงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการผลิตวิก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทุนหรืองบประมาณในการผลิตสูง”

มากไปกว่านั้น การผลิตวิกผมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ต้องเข้าใจก่อนว่าหนังศีรษะของผู้ป่วยมะเร็งไวต่อการสัมผัส วิกผมสังเคราะห์ตามท้องตลาดจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ‘วิกผมแท้’ เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง

สำหรับ ‘วิกผมแท้’ ที่บริจาคให้กับผู้ป่วยมะเร็งจะมี 2 แบบ คือ 1. วิกผมแท้แบบเย็บ 2. วิกผมแท้แบบทอมือ 

แบบเย็บจะถูกทอให้เป็นสายๆ แล้วนำมาเย็บซ้อนกัน วิธีนี้สามารถทำให้ผลิตได้เร็ว ราคาถูกกว่า แต่ความละเอียดและเหมือนผมจริงนั้นน้อยเมื่อเทียบกับอีกวิธีหนึ่ง นั่นก็คือที่วิกผมแท้แบบทอมือ ที่จะถักเส้นผมทีละเส้นทั้งหัวอย่างละเอียด ผลลัพธ์ที่ได้คือมีความเหมือนจริงมาก แต่ก็นำไปสู่มูลค่าผลิตที่แพง

ค่าใช้จ่ายในการผลิตวิกผมแท้ 1 หัว ราคาปกติที่รับทอทั่วไปจะอยู่ที่ 7,000 – 1 หมื่นบาท แต่ในส่วนค่าทอที่โครงการฯ คุยกับโรงงานได้คือ 2,500 – 3,000 บาทต่อหัว 

ถึงแม้ว่าจะเป็นราคาทอที่ถูกลงแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นราคาที่ทำให้ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่เลยในการระดมทุนมาทำวิกผมได้ ภายหลังโครงการฯ จึงต้องให้ผู้บริจาคเส้นผมให้บริจาคทุนด้วยเท่าที่พอไหวและร่วมกับหาทุนจากการรับบริจาคเช่นกัน ในหนึ่งปีก็จะเปิดรับ 2-3 รอบตามที่ทีมจะสามารถทำได้ไหว

2

3

วิกผม ทำไม่ง่าย ต้องใช้ช่างฝีมือ

อริณยภัสสร์ เล่าต่อไปถึงขั้นตอนการผลิตว่า เส้นผมที่ถูกคัดมาอย่างดีแล้วก็จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานทอผม เส้นผมจะถูกคัดแยกความยาว ขนาด เฉดสี ตรง หยิก ดัด โดยส่วนที่แห้งหรือเสียต้องถูกตัดทิ้งไปให้เหลือเส้นที่มีคุณภาพแข็งแรงเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการทอผมซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานและยากที่สุด

ปัจจุบันผู้ที่ประกอบอาชีพช่างทอวิกผมค่อนข้างมีน้อย ค่าเรียนมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่งผลให้ค่าผลิตวิกผมแท้แบบทอมือมีราคาสูง โดยวิกหนึ่งหัวใช้เส้นผมประมาณ 3 ขีด หรือประมาณผมของผู้บริจาค 2 คน และต้องมีความยาว 8 นิ้วขึ้นไป เพราะต้องใช้ความยาว 2-3 นิ้วสำหรับเกี่ยวทอ หนึ่งหัวใช้เวลาทอประมาณ 3 สัปดาห์ - 1 เดือน 

เส้นผมจะถูกทอทีละเส้นไล่จากท้ายทอยขึ้นไปเรื่อยๆ ช่างทอต้องใช้ความอดทนใช้สายตาเพ่งอยู่กับการทอเต็มที่ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน หากเสียก็แก้ได้ยาก เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูง ดังนั้นผู้ที่จะทำได้ก็ต้องเป็นช่างที่มีความชำนาญ

ผู้ก่อตั้งโครงการฯ ได้เล่าขั้นตอนต่อจากทำวิกผมเสร็จแล้วว่า เมื่อนำวิกไปจัดทรงพร้อมบริจาคแล้ว ก็จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลและสถาบันมะเร็งต่างๆ โดยจะมีการสอบถามก่อนว่า ณ สถานที่แห่งนั้นมีผู้ป่วยมะเร็งต้องการวิกผมหรือไม่ หากมีก็จะนำไปบริจาค หรือบางครั้งก็จะมีผู้ป่วยทักเข้ามาที่เพจเพื่อต้องการวิก โครงการฯ ก็จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อเป็นตัวกลางส่งมอบวิกผมให้ผู้ป่วยในพื้นที่อีกที

ตลอด 8 ปี โครงการทำวิกผมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ส่งมอบวิกผมแท้มากกว่า 300 หัว ตกราวๆ ปีละ 60-70 หัว กระจายไปยังทั่วประเทศ (โครงการฯ หยุดทำวิกผมช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ประมาณ 3 ปี)

2

มีวิกใส่ มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น

“กำลังใจถือเป็นความสำคัญอันดับ 1 ของผู้ที่กำลังป่วยไข้ กำลังใจทำให้มีแรงรักษาและใช้ชีวิตต่อ บางคนที่ชอบแต่งตัว รักสวยรักงาม ได้กลับมามีผมได้แต่งหน้าก็ทำให้มีความสุขสดใส ยิ่งพอมีคนทักว่าสวยเหมือนเดิมหรือเหมือนไม่ใช่คนป่วยเลยมันก็ยังทำให้ใจฟูขึ้นไปอีก” อริณยภัสสร์ พูดถึงความความมั่นใจของผู้ป่วยที่ได้รับวิกผมไปใส่

ทว่า ราคาของวิกผมแท้มีราคาที่สูงมาก ตามท้องตลาดวิกแบบทอมือราคาเริ่มต้นที่ 6,000 – 3 หมื่นบาท แน่นอนว่าราคานี้ไม่ใช่ราคาที่ใครจะซื้อได้ง่ายๆ ยิ่งผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอก็ต้องล้มเลิกความความคิดนี้ไป

“ในผู้ป่วยทุกๆ 10 คน จะมีผู้ป่วย 6 คนที่มีความต้องการวิกผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่อยากใส่วิกผมเพื่อออกไปเจอสังคม ส่วนอีก 4 คน รู้สึกไม่ชอบใช้ ร้อนอบอ้าวและชอบอยู่บ้านมากกว่าการใส่วิกจึงไม่จำเป็น” อริณยภัสสร์ ฉายภาพเพิ่ม

“เชื่อว่าผู้ป่วยจะกลับมามีความมั่นใจ กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม บางคนที่เคยทำงานก็กลับไปทำงานได้”

อริณยภัสสร์ อธิบายให้ฟังเพิ่มว่า เหตุผลที่ให้โรงพยาบาลหรือสถาบันมะเร็งเป็นตัวกลางในการส่งต่อไปให้ผู้ป่วยก็เพื่อให้ผู้ป่วย “ยืมใช้” นั่นก็เพราะผู้ป่วยได้มีการดูแลรักษามากกว่าการให้ขาด และเมื่อสภาพยังดีและผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้วก็สามารถส่งคืนไปยังโรงพยาบาล เพื่อแบ่งปันไปยังผู้ป่วยคนต่อๆ ไปสามารถยืมต่อได้

เมื่อก่อนที่ผู้ป่วยมองว่าการมีวิกผมใส่นั้นต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าจะได้วิกผมสักชิ้นมาสวมใส่ จนตอนนี้มีหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ เกิดมากขึ้น เพื่อมารองรับผู้บริจาคเส้นผมและนำไปแบ่งปันกระจายยังผู้ป่วยหลากหลายพื้นที่ จนถึงตอนนี้จุดที่อย่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติหรือโรงพยาบาลที่มีวิกผมสำรองไว้บ้างแล้ว ในวันหนึ่งที่มีผู้ป่วยคนไหนต้องการก็สามารถหันไปหายืมได้เลย

“ทุกครั้งที่เราไปมอบวิกผมเราก็จะถามทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลเสมอว่าต้องการปรับปรุงอะไร หรือมีอะไรต้องการเพิ่มหรือเปล่า ดูแล้วว่าเพียงพอเราก็อาจจะหยุดพักเรื่องวิกและเดินทางสู่การช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ที่ขาดแคลนต่อไป” ผู้ก่อตั้งโครงการทำวิกผมเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง และสมาชิกกลุ่มอาสาจิตต์ดี ระบุ